ศาล รธน. รับคำร้องวินิจฉัยยุบก้าวไกล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.03
กรุงเทพฯ
ศาล รธน. รับคำร้องวินิจฉัยยุบก้าวไกล ภาพแสดงขบวนพาเหรดถ่ายในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นำโดย อดีตผู้นำพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล กรณีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ด้านนักวิชาการชี้พรรคก้าวไกลมีโอกาสที่จะถูกยุบพรรคเพราะอำนาจเก่ากังวลว่าจะถูกพรรคเพื่อไทยหักหลัง

“มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคผู้ถูกร้อง (ก้าวไกล) กระทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

“แจ้งให้ผู้ร้องทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้พรรคผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54” ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 กกต. ได้พิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แล้วยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยกรณีที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลใช้การยกเลิก ม. 112 เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยหลังทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคจะดำเนินการเพื่อชี้แจงต่อศาลภายในเวลา 15 วันที่ศาลกำหนด

“เราได้เตรียมการมาพอสมควรก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเราได้รับเรื่อง ทางฝ่ายกฎหมาย และแกนนำพรรคที่เกี่ยวข้องก็คงจะทำเอกสารให้ดีที่สุด แล้วถ้าดูระยะเวลาก็คงเป็นหลังสงกรานต์ ก็คงถือโอกาสนี้ ในการแถลงต่อสู้คดีต่อสาธารณะด้วย” นายชัยธวัช กล่าวที่อาคารรัฐสภา

ก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ขอให้สังคมอย่าเพิ่งคาดว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบ

“ประเด็นการยื่นเรื่องการยุบพรรคเป็นสิ่งที่ทีมกฎหมาย และทางพรรคของเราเตรียมรับมือไว้อยู่แล้ว ไม่อยากให้ด่วนสรุป เพราะยังไงทีมกฎหมายของเราก็จะทำเต็มที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราผ่านกระบวนการ จะพยายามทำเต็มที่จนถึงวินาทีสุดท้ายเพื่อป้องกันให้ถูกยุบพรรค” นายพริษฐ์ กล่าว

“การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเรา ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่ต่อพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นการพยายามพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำไปไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด ถ้าเราพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องสำหรับการเมืองไทยในอนาคต คิดว่า พรรคก้าวไกลก็ทำงานท่ามกลางความเสี่ยงที่เรารับรู้เรื่องนี้มาตลอด ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เราเสียสมาธิ หรือลดความเข้มข้นในการทำงานตรงนี้แต่อย่างใด” นายพริษฐ์ ระบุ

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรคค่อนข้างสูง 

“ผมคิดว่าอำนาจเก่าเขากลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะหักหลังพวกเขา เขาก็จำเป็นต้องจัดการพันธมิตรที่กังวลว่าพรรคเพื่อไทยจะไปจับมือด้วย ก็คือพรรคก้าวไกล เลยต้องยุบเสีย เพื่อทำให้สัญญาและดีลทั้งหมดกลับสู่เงื่อนไขเดิม คือไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในรัฐบาลไม่ว่าจะในตอนนี้หรือในอนาคต” รศ.ดร. โอฬาร ระบุ

รศ.ดร. โอฬาร  กล่าวด้วยว่ากรณีนี้สะท้อนในเชิงหลักการว่ากระบวนการการพัฒนาการเมืองผ่านสถาบันทางการเมืองไทยมันล้มเหลว เพราะกระบวนการยุบพรรคไม่ควรเกิดด้วยความรู้สึกว่ามันมีวาระซ่อนเร้น ที่มาจากกลุ่มชนชั้นนำที่เสียผลประโยชน์ทางการเมืองที่พรรคใหม่ๆ ไม่ยอมอยู่ในอาณัติของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สมาชิกพรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงออกมาก่อตั้งพรรคก้าวไกล 

การยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนรุ่นใหม่ ต้นปี 2563 มีการชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง กระทั่งกรกฎาคม 2563 เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 

ม. 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษาจำคุก นายมงคล ถิระโคตร (บัสบาส) พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรมชาวเชียงราย เป็นเวลา 50 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ นับเป็นการตัดสินโทษจำคุกคดีม. 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ถึง 24 มีนาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,951 คน จาก 1,279 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 270 คน จาก 301 คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดี ม. 112 อย่างน้อย 27 คน ในนั้นมีถึง 18 คนที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด 

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง