บีอาร์เอ็นระบุสมาชิกของตนถูกอุ้มฆ่าด้วยวิธีทรมาน

เจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม
มุซลิซา มุสตาฟา, สุเบล ราย บันดารี, มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
2022.10.19
มาเลเซีย, กรุงเทพ, ปัตตานี และนราธิวาส
บีอาร์เอ็นระบุสมาชิกของตนถูกอุ้มฆ่าด้วยวิธีทรมาน เรือจอดเทียบท่าที่ท่าเรือ บนแม่น้ำโกลกฝั่งไทย โดยฝั่งตรงข้ามคือ เมืองรันเตาปันจัง ของมาเลเซีย วันที่ 29 สิงหาคม 2565
สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์

ขบวนการบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การเจรจาเพื่อสันติสุขกับฝ่ายไทย อาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่สมาชิกของตนถูกลักพาตัวจากฝั่งมาเลเซียและถูกสังหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พบศพที่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ลอยขึ้นอืดในแม่น้ำสุไหงโกลก เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้

อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าคณะเจรจาของบีอาร์เอ็น ได้ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตที่มีผู้พบศพในแม่น้ำโกลก เมื่อวันที่ 29 กันยายนนี้ เป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น

“Zahri ถูกลักพาตัวเมื่อวันที่ 27 และมีผู้พบศพในแม่น้ำสองวันถัดมา ผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าเป็นศพของ Zahri จริง” อุสตาซ อานัส กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้

ด้านสำนักประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ระบุว่า ศพของนายยาห์รี ดือเลาะ (Yahree Dueloh หรือ Zahri Bin Abdullah) ซึ่งเป็นสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นในมาเลเซีย ถูกพบในแม่น้ำโกลกด้านฝั่งไทย ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กันยายนนี้ ศพมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายที่คอ และร่องรอยถลอกตามเนื้อตัว

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้กัดกร่อนความไว้วางใจของบีอาร์เอ็นเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งของประชาชนปาตานี นั่นคือ การที่นายยาห์รี ดือเลาะ (อายุ 42 ปี) สมาชิกของบีอาร์เอ็นถูกลักพาตัวจากรันตู ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายนนี้" บีอาร์เอ็นระบุในแถลงการณ์ ลงชื่อโดย นายอับดุล การิม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565

“การประหัตประหารด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกบีอาร์เอ็น ทั้งในปาตานีและในมาเลเซีย ล้วนแล้วแต่จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพูดคุยที่ดำเนินอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้กัดกร่อนทำลายความไว้วางใจและความมั่นใจในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะมีการเจรจาเป็นครั้งที่ 6” นายอับดุล กล่าวในแถลงการณ์

“บีอาร์เอ็น ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับบีอาร์เอ็น การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา”

ในแถลงการณ์กลุ่มบีอาร์เอ็น กล่าวว่า มีคำถามข้อใหญ่ว่าเมื่อรัฐบาลไทยไม่ได้ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้นำและตัวแทนของพวกเขาที่ชัดเจน แล้วพวกเขาจะสามารถร่วมกระบวนการปรึกษาหารือในพื้นที่ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ฝ่ายผู้เห็นต่างต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายจากรัฐบาลไทยเพื่อให้สามารถเข้าร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือในพื้นที่ภาคใต้ และเข้าร่วมกับทีมติดตามสถานการณ์ร่วมของหลายฝ่ายได้

221019-th-brn-inside2.jpeg

อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ (คนกลาง) หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น และสมาชิกในคณะตัวแทนพูดคุยสันติสุข แถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในปุตราจายา ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังเสร็จสิ้นการเจรจากับฝ่ายไทยหนึ่งวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (เอส. มาฟุซ/เบนาร์นิวส์)

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทยได้เจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็นโดยตรงในปี 2563 แต่สะดุดลงไประยะหนึ่ง เพราะการระบาดของโควิด ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันเป็นรอบที่ 5 เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 นี้

ในวันเดียวกันนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์เพียงว่า ได้รับทราบเรื่องแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น แต่ไม่ได้ตอบโต้ใด ๆ ขณะที่นายทหารในพื้นที่รายหนึ่งตอบปฏิเสธความเกี่ยวข้อง

“เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ลักพาตัวและสังหารนายยาห์รี แน่นอน” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับเบนานิวส์

ตายอย่างทรมาน

อุสตาซ อานัส กล่าวว่า ยาห์รีถูกกลุ่มชายฉกรรก์ใช้รถยนต์สามคันลักพาตัวไปจากรันตู ในรัฐกลันตัน ใกล้กับพรมแดนไทย และถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ โดยมีร่องรอยบาดแผลฉกรรก์ที่ร่างกาย มีการใช้ไฟฟ้าช็อต และรอยการผูกคอ

“คิ้วเขาหายไป รวมทั้งหูข้างหนึ่ง เสื้อผ้าไม่ใช่ชุดเดิมจากตอนที่ถูกลักพาตัวไป นาฬิกาที่สวมก็ไม่ใช่ของเขา บัตรประชาชนที่พบก็เป็นของคนอื่น” อุสตาซ อานัสกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่มาเลเซียและไทย กล่าวว่า ยาห์รี มีบัตรประชาชนทั้งของมาเลเซียและไทย ซึ่งเป็นปกติของคนในพื้นที่ชายแดนนี้

 221019-BRN-insurgent-cropped-inside.jpeg

ภาพของนายยาห์รี ดือเลาะ (Yahri Dueloh หรือ Zahri Bin Abdullah) สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถูกพบลอยเป็นศพในแม่น้ำโกลก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2656 (เจ้าหน้าที่ทหารไทย)

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง กล่าวว่า นายยาห์รี เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เคยถูกควบคุมตัวเพื่อซักถามที่กรมทหารพราน 46 ในเดือนมกราคม 2558 จากนั้นพบข้อมูลว่าเขาได้ก่อเหตุรุนแรงในระหว่างปี 2560-2561 ในเหตุการณ์ยิงประชาชน และตำรวจ มีหมายจับ 3 หมาย

ก่อนที่จะหายตัวไป เจ้าหน้าที่พบข้อมูลและภาพการเคลื่อนไหวของเขา ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 โดยได้มารับเสบียงจากกลุ่มเยาวชนที่ให้การสนับสนุน และวางแผนจะลอบวางระเบิด ในอำเภอสุไหงปาดี ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวและกันไว้เป็นพยาน

อย่างไรก็ตาม นายยาห์รี ได้หลบหนีไปหลบซ่อนพักพิงกับนางสาวนูรีดา ดือเลาะ แม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสอง ที่ อ.ตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะกลายเป็นศพ

ครอบครัวได้รับศพนายยาห์รีเพื่อนำมาประกอบพิธี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่กูโบร์บ้านพงกือปัส ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง