มาเลเซียปล่อยตัวคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย 44 ราย

มาตาฮารี อิสมาแอ
2023.02.21
นราธิวาส
มาเลเซียปล่อยตัวคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย 44 ราย ประชาชนเดินเท้าจากด่านรันตู ปันยัง ฝั่งมาเลเซีย มายังด่านตรวจคนเข้าอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ผู้กำกับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดนราธิวาส เตือนชาวไทยที่จะไปหางานทำในมาเลเซียให้ดำเนินการขออนุญาตทำงานให้ถูกต้อง หลังจากที่ทางการมาเลเซียได้ปล่อยตัวผู้ต้องกักและนักโทษชาวไทยรวม 44 ราย กลับประเทศ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานที่ไปทำงานในมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย  

ทั้งนี้ ทางการไทยระบุว่า มีคนไทยไปอยู่ในมาเลเซียโดยผิดกฎหมายในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ ประมาณ 200,000 คน และมีเพียงประมาณ 50,000 คนเท่านั้น ที่ไปทำงานโดยมีใบอนุญาติทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ พ.ต.อ. พูลศักดิ์ แก้วสีขาว ผกก.ตม.จว.นราธิวาส ได้ประสานงานจากทางเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ให้รับตัวคนไทย 44 คน ที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำตาเนาะแมเราะ และเรือนจำกัวลาตรังกานู และถูกส่งตัวข้ามแดนมาทางจังหวัดนราธิวาส เพื่อกลับภูมิลำเนา โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้เครือญาติมารับตัว เนื่องจากทั้งหมดไม่สามารถที่จะติดต่อเครือญาติได้ หลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำประเทศมาเลเซีย

“ผมอยากย้ำเตือนกรณีคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ที่มีกลุ่มบุคคลแจ้งว่า มีงานทำและให้เงินเดือนสูง ก็จะถูกหลอกเหมือนเคสนี้ ก็จะแจ้งว่าถ้าต้องการเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ก็ให้ศึกษาให้ดีว่าเขามีงานให้ทำจริงหรือไม่ และทำดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน หรือ Work  Permit ให้ถูกต้องด้วย” พ.ต.อ. พูลศักดิ์ กล่าว

ทั้งหมดถูกจับหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทางการมาเลเซีย มีความเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบตามสถานประกอบการและร้านจำหน่ายอาหาร เมื่อไทยและมาเลเซียเปิดประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนไทยดังกล่าว ซึ่งกฎหมายมาเลเซีย มีบทลงโทษคนต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายถึงจำคุกสูงสุดห้าปี

นอกจากนั้น พ.ต.อ. พูลศักดิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเทศมาเลเซียได้ตรวจปัสสาวะพบว่า บางคนเสพยาเสพติด จึงถูกจำคุกนานกว่า 4 ปี

ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานโดยผิดกฎหมายในมาเลเซียนั้น จะไปใน 3 รูปแบบ คือ หนึ่ง เดินทางแบบนักท่องเที่ยวโดยใช้พาสปอร์ตแล้วแอบทำงาน, สอง เดินทางโดยใช้บัตรข้ามแดนของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้วหางานทำโดยผิดกฎหมาย และ สาม ถูกกลุ่มนายหน้าค้าแรงงานนำพาไป ซึ่งมักจะโดนกดขี่เรื่องค่าแรง 

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน เป็นหนึ่งกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดของประเทศ มีรายได้ต่อหัวต่อปีที่ 139,173 บาท (ตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2562) ทำให้คนในพื้นที่จำนวนมากต้องเดินทางไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้าน

“ด้วยความที่มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตที่ติดกับไทย และมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด มาเลเซียในวันนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับเก็บหอมรอมริบเงินให้ตนเองและครอบครัวไปในเวลาเดียวกัน คือใคร ๆ ก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี” นายซูลกีฟลี (ขอสงวนนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว) ชาวตำบลปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ซึ่งไปทำอาชีพลูกจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่งในมาเลเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“จะไปด้วยถูกกฎหมายหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบก็แล้วแต่คน แต่ทุกคนต้องการเงินเพื่อจุนเจือชีวิต ถ้าประเทศไทยอยู่ดีกินดีมีงานทำ ค่าตอบแทนสูง คนไทยขายแรงงานในมาเลเซียจะลดเอง แต่ในข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น เสี่ยงคุกตาราง เขาก็ไป เพื่อสิ่งที่เขาคาดหวังชีวิตที่ดีกว่าอยู่บ้าน” นายซูลกีฟลี อายุ 45 ปี กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่าในประเทศไทยไม่มีการจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 กว่าบาทต่อวันจริง แม้ว่ารัฐจะประกาศก็ตาม

น.ส. ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า มีแรงงานไทยจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ สิ่งที่รัฐสามารถทำได้คือ ให้กระทรวงแรงงานประสานงานกับประเทศปลายทาง เพื่อช่วยเหลือด้านสิทธิและมนุษยธรรม ตำรวจเองก็ต้องดำเนินการอย่างจริงจังกับนายหน้าหรือผู้นำพา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำพาแรงงานไปแบบผิดกฎหมาย และเกิดปัญหาตามมา และต้องทำฐานข้อมูลของแรงงานที่เดินทางไปต่างประเทศให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างสะดวกหากมีปัญหา

รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอำเภอปะนาเระ ที่ริเริ่มมาเมื่อ ปี 2547 แล้วภายหลังกลับล้มเหลว เป็นต้น

ส่วนในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังดำเนินการ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 โดยอนุมัติให้มีการดำเนินงบประมาณระหว่างปี 2560–2563 โดยมีการคัดเลือกพื้นที่ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีบางส่วนเรียบร้อยไปแล้ว เช่น โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่ได้รับการต้อนรับจากนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง