อดีตผู้บัญชาการทหารมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยคนใหม่ อย่างเป็นทางการ

นักวิชาการเชื่อ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อาจทำให้กระบวนการดำเนินเร็วขึ้น
มุซลิซา มุสตาฟา, อิมาน มุตตากิน ยูโซฟ, นิชา เดวิด และมารียัม อัฮหมัด
2023.01.10
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
อดีตผู้บัญชาการทหารมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยคนใหม่ อย่างเป็นทางการ ผู้ชุมนุมชาวมุสลิมถือป้ายข้อความ “หยุดใช้ความรุนแรง” ระหว่างการชุมนุมต่อต้านความรุนแรงที่มีชาวมุสลิมและชาวพุทธเข้าร่วม ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562
เอเอฟพี

รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศอย่างเป็นทางการในวันอังคารนี้ว่า พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน จะเป็นหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ นักวิชาการเชื่อ ผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่อาจทำให้กระบวนการดำเนินได้เร็วขึ้น

รัฐบาลมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าวลงนามโดย ตันศรี ดาโตะ เสรี สุกีย์ บิน อาลี หัวหน้าเลขาธิการรัฐบาล วันที่ 10 มกราคม 2566

“รัฐบาลขอประกาศการแต่งตั้ง ตันศรี ดาโตะ ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน เป็นหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 รัฐบาลเชื่อมั่นว่า ตันศรี ดาโตะ ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน จะสามารถบรรลุภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศ” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังระบุว่า พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน เป็นผู้มีประสบการณ์กว้างขวางในฐานะอดีตผู้บัญชาการกองทัพบก รัฐบาลเชื่อว่า ซุลกิฟลี จะมีบทบาทสำคัญในการเร่งกระบวนการสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ผ่านมา พล.อ. ซุลกิฟลี มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีและความไม่สงบ เคยรับใช้กองทัพมากว่า 40 ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2563 และก่อนมารับตำแหน่งหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกนี้ ได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

พล.อ. ซุลกิฟลี ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นแก่เบนาร์นิวส์ได้ในวันอังคารนี้

“ผมในนามของรัฐบาลขอแสดงการขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อ ตันศรี ดาโตะ อับดุล ราฮิม นูร์ ซึ่งสิ้นสุดภารกิจในฐานะหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565” เสรี สุกีย์ บิน อาลี ระบุ

ต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์อย่างสั้น ๆ ว่า “รู้เรื่องนี้ก่อนหน้านี้สักพักแล้ว รัฐบาลได้ตัดสินใจแล้ว และนี่เป็นกระบวนการปกติ”

ถือเป็นเรื่องดี

ขณะที่ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า “(การเปลี่ยนหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวก) เป็นเรื่องที่ดี สามารถนำไปสู่การทำงานให้เกิดความคืบหน้าต่อไปได้”

ขณะที่ อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มีความหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนในการพูดคุยสันติสุข หลังการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่นี้

ต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นอดีตทหารน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะเข้าใจกันกับคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยซึ่งเป็นอดีตทหารด้วยกัน

“เป็นเรื่องดี อาจมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพราะคนเก่าอยู่มาหลายปี คนใหม่มาอาจเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวิธีคิดรัฐบาล (มาเลเซีย) ใหม่ด้วย อาจจะเปลี่ยน (ผู้อำนวยความสะดวกฯ) ให้สอดคล้องกัน และที่สำคัญเป็นทหารอาจจะคุยกับทหารฝ่ายไทยได้รู้เรื่องและเข้าใจกัน ส่งผลถึงความคืบหน้าการพูดคุยมากขึ้น สามารถลดความรุนแรง และเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์ร่วมกันได้” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าว

ด้านนายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี หรือพูโล เผยว่าพอใจกับหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุข คนใหม่

“ที่จริงเเล้วเรื่องสันติสุข หรือสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง คือรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง ส่วนผู้อำนวยความสะดวก มีบทบาทแค่การช่วยเหลือ เราก็โอเคที่เป็นเขาคนนี้ มีความหวังว่าจะเกิดการพูดคุยรอบใหม่เร็ว ๆ นี้” นายกัสตูรี กล่าว

เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าววงในว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก แต่รัฐบาลมาเลเซียยังไม่เคยยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยการเปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกเกิดขึ้นหลังจากที่ นายอันวาร์ บิน อิบราฮิม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของมาเลเซีย

สำหรับนายราฮิม นูร์ ขณะทำหน้าที่จเรตำรวจ เคยถูกจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน เมื่อปี 2541 จากข้อหาทำร้ายร่างกายนายอันวาร์ ที่ถูกคุมขังด้วยข้อหามีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และต้องกล่าวขอโทษนายอันวาร์อย่างเป็นทางการ ต่อมา นายราฮิม นูร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกในปี 2561 ภายใต้รัฐบาล นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย

รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19

ในต้นปี พ.ศ. 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในการดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต้องเลื่อนการเจรจากันแบบตัวต่อตัว ครั้งที่ 6 ที่เดิมกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565   

ด้าน อัลตาฟ เดวียาตี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอีมาน สถาบันวิจัยในมาเลเซียที่เชี่ยวชาญประเด็นความมั่นคงและความขัดแย้ง ได้สะท้อนความรู้สึกเดียวกันว่า จากภูมิหลังของ พล.อ. ซุลกิฟลี หวังว่าเขาจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์มากขึ้น

“กระบวนพูดคุยนี้จำเป็นต้องมุ่งไปสู่เงื่อนไขที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ประชาชนทั่วไปในพื้นที่รู้สึกหงุดหงิด เกรงว่าหากกระบวนการไม่มีความเคลื่อนไหวและสร้างแต่ความรำคาญใจ อาจส่งผลเสียในระยะยาวและยิ่งทำให้สันติภาพอยู่ไกลเกินเอื้อมไปมากขึ้นเรื่อย ๆ” อัลตาฟ ระบุ

ขณะที่ นายกมาลลูดี สาเหาะ ชาวบ้านในจังหวัดยะลา บอกเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า

“ไม่ทราบเรื่องการเปลี่ยนตัวและไม่สนใจ ชาวบ้านอยากให้สงบ ใครจะทำอะไรขออย่าให้กระทบชาวบ้านเป็นพอ เพราะชาวบ้านต้องอยู่ต้องกิน แค่นี้ก็เดือดร้อนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังมีตลอด คนในพื้นที่เบื่อหน่ายมาก”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง