มาเลเซีย : นายกฯ กัมพูชาน่าจะปรึกษาสมาชิกอาเซียนก่อนเยือนเมียนมา

ขณะที่อินโดนีเซียขอให้กัมพูชา ประธานอาเซียนปีนี้ ยึดตามที่ตกลงกันครั้งก่อน
มุซลิซา มุสตาฟา และเตรีย ดิอานติ
2022.01.13
กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา
มาเลเซีย : นายกฯ กัมพูชาน่าจะปรึกษาสมาชิกอาเซียนก่อนเยือนเมียนมา นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวระหว่างการแถลงข่าว หลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 28 ตุลาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ผู้ก่อตั้งอาเซียนทั้งสองคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่เดินทางไปเยือนเมียนมาที่ประสบปัญหาวิกฤตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน น่าที่จะปรึกษาสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก่อน

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียขอให้กัมพูชายึดตามสิ่งที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนได้ตกลงกันไว้ในการประชุม รวมทั้งฉันทามติห้าข้อ เพื่อนำเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย

คำกล่าวของเจ้าหน้าที่ของสองประเทศนั้น เป็นความคิดเห็นแรกที่แสดงออกมาโดยประเทศสมาชิกอาเซียน นอกเหนือจากกัมพูชาและเมียนมา หลังจากที่สมเด็จฯ ฮุน เซน เดินทางเยือนกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวงของเมียนมา เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม

“มาเลเซียเห็นว่า [ฮุน เซน] มีสิทธิ์ที่จะไปเยือนเมียนมาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกัมพูชา” นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อถูกถามเรื่องการเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน

“แต่เรายังรู้สึกด้วยว่า เพราะสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนไปแล้ว เขาน่าที่จะปรึกษากับผู้นำอาเซียนคนอื่น ๆ อย่างน้อยสองสามคนก่อน ถ้าไม่ใช่ทุกคน เพื่อขอความเห็นว่าควรทำอย่างไรในกรณีที่เขาเดินทางไปเมียนมา” นายไซฟุดดินกล่าวเสริม โดยหมายถึงหน้าที่ของกัมพูชาในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2565

เมื่อปลายปีที่แล้ว อาเซียนแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเมียนมา โดยห้ามพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนของปีที่แล้ว เพราะเขาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อ นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมาได้ยกเลิกการเดินทางไปยังเมียนมา หลังถูกบอกว่าไม่สามารถพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการขัดแย้งได้ รวมทั้งผู้นำฝ่ายพลเรือน เช่น นางอองซาน ซูจี

ทว่า เมื่อรับตำแหน่งประธานอาเซียน สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็บอกทันทีว่า ควรให้ผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมด้วย จากนั้น เขาก็รีบเดินทางไปเมียนมา พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหาร แต่ไม่ได้พบกับผู้นำฝ่ายพลเรือน

สมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องสามัคคีกันในการทำงาน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา นายอับดุล กาดีร์ ไจลานี อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา สังกัดกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย บอกผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดี

“เราหวังว่าในฐานะประธานอาเซียน กัมพูชาจะสามารถดำเนินการตามที่ได้ตกลง [กัน] ไว้ในการประชุมอาเซียนครั้งก่อน นั่นคือ การปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อ และใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” เขากล่าว

“นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมกันทำ”

ขณะเดียวกัน ดร.โนลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา ย้ำถึงประเด็นเดียวกันนี้ในการสนทนากับสมเด็จฯ ฮุน เซน เมื่อวันพฤหัสบดี

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาเลเซีย เป็นสองประเทศสมาชิกดั้งเดิมของอาเซียนจากทั้งหมดห้าประเทศ เมื่อมีการก่อตั้งอาเซียนขึ้น ในปีพ.ศ. 2510 การกระทำและนโยบายต่าง ๆ ของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของหลักฉันทามติมาโดยตลอด

คำกล่าวข้างต้นของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียและมาเลเซียมีขึ้นในวันหนึ่ง หลังจากที่กัมพูชายกเลิกการประชุมแบบพบหน้ากันของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งกำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มกราคม ที่จังหวัดเสียมราฐ โดยให้เหตุผลว่ารัฐมนตรีบางคนลำบากที่จะเดินทางไปร่วมการประชุม แต่นักวิเคราะห์สถานการณ์บอกว่า การยกเลิกการประชุมน่าจะเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม เพื่อประท้วงการที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ดำเนินการเกี่ยวกับเมียนมาโดยไม่ปรึกษาสมาชิกประเทศอื่นก่อน

ก่อนหน้านี้ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ได้สนับสนุนให้ห้ามตัวแทนจากรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมอาเซียน เนื่องจากผู้นำรัฐบาลทหารไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียนตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว สองเดือนหลังเหตุรัฐประหาร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อถูกถามว่าประเทศใดบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับการเยือนเมียนมาของ สมเด็จฯ ฮุน เซน ในครั้งนี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ ปฏิเสธที่จะระบุชื่อ แต่บอกว่ามีบางประเทศที่บอกว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน มีสิทธิ์ที่จะไปเยือนเมียนมา

“มีคนที่คิดว่าเขาไม่ควรไปเยือนเมียนมา เพราะการเยือนของเขาถูกมองว่าเป็นการยอมรับรัฐบาลทหารของเมียนมาในระดับหนึ่ง” นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ กล่าว

“แต่ก็มีคนอื่นที่คิดว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกัมพูชา เขามีสิทธิ์ไปเยือนเมียนมา เพราะถือเป็นการเยือนระดับทวิภาคีตามปกติ ประธานาธิบดีโจโกวีได้โทรศัพท์ถึงเขาก่อนหน้าการเยือน และผมแน่ใจว่าคุณได้อ่านการพูดคุยระหว่างสมเด็จฯ ฮุน เซน และประธานาธิบดีโจโกวีแล้ว”

นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ หมายถึงข้อความที่ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด โพสต์ในทวิตเตอร์ หลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน

“หากไร้ความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อ ผู้แทนของเมียนมาที่จะเข้าร่วมการประชุมของอาเซียนควรเป็นผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น” ประธานาธิบดีโจโกวีได้กล่าวไว้

และเมื่อถูกถามว่า การเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ผลอะไรหรือไม่ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ ตอบว่า “ไม่”

เกี่ยวกับการที่กัมพูชาเลื่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกไป นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนและการติดภารกิจอื่น ๆ ของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศทำให้บางคนไม่สามารถเดินทางไปร่วมการประชุมได้

ส่วนนายอับดุล กาดีร์ อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียเข้าใจว่าการเลื่อนการประชุมออกไปมีสาเหตุจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง หลังเกิดการแพร่ของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

“แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับด้วยว่า ภายในอาเซียนเองยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้บรรลุจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้แทนของเมียนมา” เขากล่าว

“เรารู้ว่า จนถึงตอนนี้ยังขาดความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... ดังนั้น อินโดนีเซียจึงยึดในคำตัดสินใจก่อนหน้านี้ของอาเซียนที่ว่า ผู้แทนของเมียนมาที่จะเข้าร่วมการประชุมของอาเซียน ควรเป็นผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น”

กัมพูชาไม่ได้ประกาศกำหนดการใหม่สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และนายอับดุล กาดีร์ อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาของอินโดนีเซีย ยังบอกด้วยว่า เขาก็ไม่ทราบเช่นกัน

“สิ่งที่เราทราบคือ การประชุมแบบพบหน้ากันจะถูกเลื่อนออกไป สำหรับกำหนดการใหม่ หรือการจะจัดประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลหรือไม่นั้น เรากำลังพูดคุยกันอยู่” เขากล่าว

 220113-th-id-kh-bu-asean-inside.jpg

ดร.โนลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา (จอทีวีด้านขวา) พูดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (จอทีวีด้านซ้าย) ในการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล ที่กรุงพนมเปญ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) 

จะอยู่ที่ทางตันไม่ได้

มูฮัมหมัด อารีฟ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า การประชุมอาเซียนที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความคืบหน้าเกี่ยวกับเมียนมา

“หากในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป มีผู้แทนรัฐบาลอย่างเป็นทางการจากเมียนมาที่มีคุณสมบัติพร้อมทางการทูตเข้าร่วมด้วยแล้วล่ะก็ จะเป็นปัญหาอย่างเห็นได้ชัดสำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งปฏิเสธรัฐบาลทหารในเมียนมา” เขาบอกกับเบนาร์นิวส์

ความแตกแยกภายในอาเซียนยังจะยิ่งทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เขากล่าว

“เขา [ฮุน เซน] ควรพูดตามหน้าที่ของเขาในฐานะประธานอาเซียน และข้อแนะนำของเขาควรสอดคล้องกับฉันทามติห้าข้อ ความสำคัญควรอยู่ที่การหาทางเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” มูฮัมหมัด อารีฟ กล่าว

ทางฝ่ายสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดี เขาได้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อชี้แจงข้อแก้ตัวสำหรับการพบปะกับพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า

เขากล่าวว่า การพบปะของเขากับผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติและฉันทามติห้าข้อของอาเซียน

“แผนของกัมพูชาเกี่ยวกับการเยือนพม่าในฐานะประธานอาเซียนคือ เพื่อหาวิธียุติความรุนแรง และ [ให้แน่ใจ] ว่าจะมีการหยุดยิง ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติห้าข้อ นอกจากนี้ [การพบปะนั้นมีเป้าหมาย] เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นแก่เมียนมาในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้” เขาเขียน

“เราจะอยู่ที่ทางตันไม่ได้ และเราจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขจุดติดขัดนี้ เพื่อหาโอกาสสำหรับการเจรจา”

เดเร็ก กรอสส์แมน นักวิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวทางทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาคิดว่าความแตกแยกในอาเซียนมีความรุนแรง

“การเยือนเมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ของฮุน เซน แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างรุนแรงในอาเซียน บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่อต้านการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลทหารพม่า แต่กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ต่างก็คิดว่าคงไม่มีทางเลือกอื่น” เขากล่าว

“อาเซียนกำลังมีปัญหา”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง