หลังบริษัทใหญ่ถอนตัว รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างรัสเซียร่วมแหล่งก๊าซและน้ำมัน

รัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยว่า อีกไม่นาน รัสเซียจะเริ่มเข้าร่วมในแหล่งก๊าซและน้ำมันและของเมียนมาแทนบริษัทใหญ่ในเอเชีย 3 แห่งที่ถอนตัวไป

ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน บริษัทน้ำมันของมาเลเซียและไทย และกลุ่มบริษัทพลังงานของญี่ปุ่น ได้ถอนตัวจากแหล่งก๊าซเยตากุนของเมียนมา โดยทั้งสามอ้างเป็นเหตุผลทางการค้า

กลุ่มบริษัท เอเนออส โฮลดิงส์ เอกชนยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจของญี่ปุ่น ก็ถอนตัวจากโครงการเยตากุน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า จากการคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเมียนมา ทั้งประเด็นทางสังคม ซึ่งหมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพ หลังจากพลเรือนเมียนมาเกือบ 1,800 คนถูกสังหารตั้งแต่การทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ตามที่บริษัทต่างๆ ถอนตัว ไม่ใช่เพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่เนื่องจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากโครงการเยตากุน โฆษกทหารของเมียนมา บอกเรดิโอฟรีเอเชีย

“องค์กรมิตรและพันธมิตรของเรากำลังร่วมมือกับเราในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน คุณจะเห็นความร่วมมือกับรัสเซียในไม่ช้านี้ เราจะขยายการดำเนินงานด้านก๊าซและน้ำมันโดยเร็วที่สุด” พล.ต.ซอ มิน ตุน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

นักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่งกล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่รัสเซียเข้าร่วมโครงการแหล่งก๊าซและน้ำมันของเมียนมา

“เมื่อประเทศประชาธิปไตยตัดความสัมพันธ์หรือคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการทหาร ประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ของมนุษย์จะก้าวเข้ามา เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ” นักวิเคราะห์ ไซจี ซินโซบอกเรดิโอฟรีเอเชีย

“เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ ในประวัติศาสตร์ของเมียนมา”

นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่เมียนมาจะหาคนมาแทนได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“รัสเซียเป็นประเทศที่มีอำนาจมากในโลกของน้ำมัน” นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าว

“น่าจะพยายามพูดคุยกัน [กับรัสเซีย] แต่การเปลี่ยนแปลงปุบปับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คงจะไม่เกิดขึ้นในทันที”

220506-th-mn-my-gas-inside.jpg

โลโก้ของ บริษัทน้ำมัน ปิโตรนาส ของรัฐ บาล มาเลเซีย ที่สำนักงาน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 เมษายน 2565 [รอยเตอร์]

ผลผลิตลดลง

การถอนตัวของประเทศในอาเซียนครั้งนี้ แม้ว่าอาจมีเหตุผลเรื่องโครงการที่อาจไม่สร้างกำไร ยังสามารถส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ที่เคยลวงหลอกอาเซียนโดยการฝืนมติเอกฉันท์ในการนำประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตย

นายเรดุล อิสลาม นักวิจัยและนักวิเคราะห์ด้านพลังงานชาวสิงคโปร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การถอนตัวของบริษัทน้ำมันของทั้งมาเลเซียและไทย จากการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงพาณิชย์ และไม่ได้มีเจตนาที่จะกดดันรัฐบาลทหารพม่า

“สาเหตุหลักที่สองบริษัทถอนตัว มาจากผลผลิตก๊าซในโครงการเยตากุนลดลงอย่างมาก” นายเรดุล ระบุ

“โครงการเยตากุนผลิตก๊าซได้ประมาณ 3% ของผลผลิตก๊าซทั้งหมดของเมียนมาในปี 2563 ซึ่งลดลงอย่างมาก จากที่เคยสูงถึง 6% ของผลผลิตในปี 2562 ของเมียนมา และในความเป็นจริงผลผลิตก๊าซนั้น เริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ฉะนั้นอัตราการผลิตก๊าซที่ต่ำของโครงการเยตากุน หมายความว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จำเป็นต่อการรักษาพื้นที่นั้น ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป” นายเรดุล กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อผู้บริหารของ ปตท.สผ. เพื่อขอความคิดเห็นได้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทปิโตรนาส

การถอนตัวออกจากโครงการเยตากุนของสองบริษัทใหญ่ ถูกประกาศเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากที่หลายบริษัทน้ำมันทั่วโลกได้ทยอยถอนตัวออกไปก่อนหน้า นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เมื่อ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมาโค่นล้มรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากการขับไล่รัฐบาลแล้ว กองทัพที่นำโดยหัวหน้ารัฐบาลทหาร ยังได้จำคุกผู้นำที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยหลายคน รวมทั้งนางอองซาน ซูจี

นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ใช่เฉพาะบริษัทน้ำมันเท่านั้นที่ได้ถอนการลงทุนออกจากเมียนมา แต่ยังรวมถึงหลาย ๆ บริษัท นานาชาติ ที่ร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา ด้วยสาเหตุของการทำรัฐประหาร และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน

โดยบริษัทชื่อดังที่ได้ถอนการลงทุนในเมียนมาไปแล้ว อาทิ บริษัท ยาสูบ บริติช อเมริกัน โทแบคโค บริษัท เชฟรอน บริษัท โคคาโคลา บริษัทเทเลนอร์ บริษัท วูดไซด์ปิโตรเลียม และบริษัท โททัล เอเนอร์จี เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของบริษัทเหล่านี้สวนทางกับกรณีของสองบริษัทไทยและมาเลเซียอย่างชัดเจน

ประชาคมอาเซียนร่วมใจ

นาย ซาคารี อาบูซา นักวิเคราะห์สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า แม้ว่าในบริบทดังกล่าว เราจะพบว่าทั้งปิโตรนาส และปตท.สผ.ของไทย พยายามถอนตัวจากธุรกิจที่กำลังจะตาย แต่เชื่อว่ามันมีเหตุผลมากกว่าแค่เรื่องเศรษฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจในครั้งนี้

"ข้อสรุปของผมในเรื่องนี้คือ ชาวมาเลเซียรู้สึกผิดหวังและต้องการกดดันสภาบริหารแห่งรัฐ แต่สำหรับปตท.สผ. ของไทยมีข้อแตกต่าง ซึ่งในความเป็นจริง ประกาศว่าพวกเขากำลังเข้าซื้อกิจการที่เชฟรอนและโททัลเอเนอร์จีเลิกกิจการในแหล่งก๊าซอื่นของเมียนมาร์”นายซาคารี ระบุ

“สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลลบต่อสภาบริหารแห่งรัฐ โดยการส่งผลลบต่อโครงการที่จะสร้างเม็ดเงิน กระทรวงว่าการน้ำมันและก๊าซกำลังสูญเสียผู้ลงทุนไป แม้ว่าอาจเป็นการลงทุนที่ไม่สร้างกำไร แต่ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีก็จะเกิดขึ้นเนื่องด้วยการถอนตัวครั้งนี้” นายซาคารี ระบุ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองบริษัทไทยและมาเลเซียจะถอนตัวจากโครงการเยตากุนไปแล้ว แต่จากข้อมูลของนายเรดุล อิสลาม ระบุชัดเจนว่า โครงการผลิตก๊าซยานาดาและซอติกา เป็นโครงการผลิตก๊าซที่ใหญ่และใหญ่เป็นอันดับสามในเมียนมา

“ซอติกาและยาดานาสามารถคิดร่วมกันได้ 15-20% ของปริมาณก๊าซของประเทศไทย ดังนั้นอาจเป็นเพราะเห็นแก่ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย รัฐบาลไทยอาจไม่ยอมให้ ปตท.สผ. ออกไป” นายเรดุล ระบุ

ขณะที่นายซาคารี ระบุในทางกลับกันว่าการถอนตัวจากเยตากุนอย่างจำกัด ยังทำให้เมียนมาดูแย่ สิ่งที่ทำให้เมียนมาซึ่งเป็นสมาชิกของอาเซียนแย่ลงไปอีกก็คือ บริษัทที่รัฐสมาชิกสหภาพเดียวกันเป็นเจ้าของจากได้ถอนตัว

“บริษัทมาเลเซียและไทยเหล่านี้เป็นพันธมิตรในอาเซียน สำหรับรัฐบาลเผด็จการ อาจไม่น่าแปลกใจเลยที่บริษัทน้ำมันของตะวันตกจะถอนตัว แต่สำหรับหุ้นส่วนอาเซียนนั้นนับเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร” นายซาคารี กล่าว

“การแสดงสัญลักษณ์มีความสำคัญสำหรับระบอบการปกครองที่โหยหาการยอมรับในระดับสากล” นายซาคารี กล่าวทิ้งท้าย

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักเคลื่อนไหวความยุติธรรมในเมียนมา (Justice for Myanmar) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การถอนตัวจากโครงการก๊าซเยตากุนเป็นผลมาจากแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประชาชนชาวเมียนมาและนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

กลุ่มนักเคลื่อนไหวความยุติธรรมในเมียนมา ระบุอีกว่าจำเป็นต้องมีแรงกดดันมากขึ้นอีกในการหยุดการจ่ายน้ำมันทั้งหมดให้กับรัฐบาลทหาร เพื่อให้รัฐบาลไม่สามารถใช้เงินทุนเพื่อซื้ออาวุธและกระสุนที่ใช้ในการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์

ด้านนายยาดานาร์ หม่อง โฆษกของกลุ่มนักเคลื่อนไหวความยุติธรรมในเมียนมา เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปตท.สผ. ควรจะต้องระงับการจ่ายเงินให้แก่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า จากโครงการยาดานาและซอติกา หรือไม่ก็ถอนตัวไปเลย

“โครงการเหล่านี้สร้างทุนให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องของ ปตท.สผ. ก็เหมือนเป็นการสนับสนุนอาชญากรรมของรัฐบาลทหาร เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนแนวทางและยุติการทำธุรกิจกับรัฐบาลทหาร” นายยาดานาร์ ระบุ

เรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเมียนมา, ไชลาจา นีลากันตัน ในวอชิงตัน และสุเบล ราย บันดารี และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน