ขบวนการขอความคุ้มครองทางการทูต เพื่อร่วมกระบวนการปรึกษาหารือชายแดนใต้

มุซลิซา มุสตาฟา และ นิชา เดวิด
2022.08.03
กัวลาลัมเปอร์
ขบวนการขอความคุ้มครองทางการทูต เพื่อร่วมกระบวนการปรึกษาหารือชายแดนใต้ อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น (คนกลาง) และคณะ แถลงข่าวในโรงแรมแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ หลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยกับฝ่ายไทยหนึ่งวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2565
เอส. มาฟุซ/เบนาร์นิวส์

ทีมเจรจาสันติสุขของขบวนการบีอาร์เอ็น กล่าวในวันพุธนี้ว่า ได้ร้องขอให้ทางการไทยให้ความคุ้มครองทางการทูตกับฝ่ายผู้เห็นต่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวแทนของพวกเขาสามารถเข้าร่วมการปรึกษาหารือ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขได้โดยไม่ต้องถูกจับกุมตัวดำเนินคดีที่คั่งค้าง

อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น แถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ในระหว่างการเจรจาในวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เสนอเรื่องนี้ให้ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับทราบ ขณะที่ฝ่ายตนก็ได้รับทราบและพิจารณาข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยที่จะให้มีการดำเนินการเพื่อลดความรุนแรงในระหว่างการเข้าพรรษาเป็นเวลาสามเดือน

“เราได้พูดคุยถึงเรื่องกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่... เพื่อขอความคุ้มครองทางด้านการทูตให้กับตัวแทนของเราที่จะเข้าร่วมในกระบวนการ” อุสตาซ อานัส กล่าวในการแถลงข่าวในโรงแรมที่จัดให้มีการประชุมในสองวันก่อนหน้านี้

เขากล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพูดคุยในเรื่องความริเริ่มรอมฏอนสันติสุข ในห้วงเดือนถือศีลอดเป็นระยะเวลา 40 วันว่า ประสบผลสำเร็จด้วยดี แม้ว่าจะเกิดเหตุระเบิดโดยฝ่ายขบวนการพูโลเข้ามาแทรกก็ตาม ในการวางระเบิดต่อเนื่องกันเมื่อกลางเดือนเมษายนในครั้งนั้น ประธานกลุ่มพูโลยอมรับว่าทางกลุ่มอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุในปัตตานี ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตหนึ่งราย และเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีตำรวจได้รับบาดเจ็บสามนาย

ทีมพูดคุยระดับเทคนิคของทั้งสองฝ่ายจะได้ประชุมกันโดยเร็วพูดคุยถึงรายละเอียดของความคุ้มครองนี้ ก่อนที่คณะพูดคุยชุดใหญ่จะเจรจากันอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ อุสตาซ อานัส กล่าว

ส่วน พล.ท. ธิรา แดหวา เลขานุการคณะพูดคุยฯ กล่าวเช่นเดียวกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่จะเป็นไปตามกรอบขั้นตอนการเจรจาที่เคยมีมา

“จะใช้สูตรเดิมที่เคยคุยกันไว้ ใช้รูปแบบสานใจสู่สันติ แต่ยังต้องหารือกันในรายละเอียดอีกหลายอย่าง เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน ทุกฝ่ายพอใจ” พล.ท. ธิรา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้

ในก่อนหน้านี้ อดีตเลขานุการคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายหรือความคุ้มครองทางการทูต เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องมีเพื่อที่จะให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะผู้ที่มีคดีติดตัวสามารถเข้ามาร่วมกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างทางการไทย ฝ่ายผู้เห็นต่าง และชาวบ้านได้ รวมทั้งสามารถร่วมคณะสังเกตการณ์ร่วม (Joint Monitoring Team) ได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี

รัฐบาลจะยกข้อหาให้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่ผู้แทนฝ่ายผู้เห็นต่างเข้าร่วมกระบวนการข้างต้น โดยทางฝ่ายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศภาคสี่ จะอำนวยความสะดวกในเรื่องที่พักให้ได้ พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง เคยกล่าวกับเบนาร์นิวส์ และระบุว่า แกนนำคนสำคัญของขบวนการก่อความรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมาเลเซีย

ส่วนเรื่องที่ฝ่ายไทยเสนอให้ดำเนินการความริเริ่มเข้าพรรษาสันติสุข ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม-30 พฤศจิกายนนั้น อุสตาซ อานัส กล่าวว่ายังต้องใช้เวลาในการพูดคุยกันอีก

“เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ซึ่งมีบางสิ่งที่เราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีกได้ มันเป็นเรื่องของความตั้งใจมุ่งมั่นมากกว่าแค่การตกลงกัน มันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน” อุสตาซ อานัส กล่าว และระบุว่า จะพูดคุยเรื่องนี้เพิ่มเติมกันในอนาคต

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ระบุว่า ฝ่ายคณะพูดคุยฯ ได้เสนอให้ลดความรุนแรงรวม 108 วัน ในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-30 พฤศจิกายน โดยจะปรับการปฏิบัติแตกต่างจากช่วงรอมฏอนสันติสุขที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติ เป็นให้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง Joint Monitoring Team ที่มีทั้งสองฝ่ายและภาคประชาชนเข้าร่วม รวมทั้งเรื่องการปรึกษาหารือในพื้นที่

ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุ

รัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เริ่มกระบวนการพูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2556 และมีการเปลี่ยนคณะเจรจาของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบอย่างน้อยสองครั้ง จนกระทั่งล่าสุด ฝ่ายไทยมีคู่เจรจาโดยตรงเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีข้อตกลงเรื่องรอมฎอนสันติสุขเมื่อเดือนเมษายน 2565 นี้ ตามที่กล่าวมา

กลุ่มบีอาร์เอ็นถือเป็นกลุ่มหลักที่มีศักยภาพในการก่อเหตุสูงสุด ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ อุสตาซ อานัส ได้ยอมรับว่าคนของขบวนการถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยวิสามัญฆาตกรรมจริง ส่วนกลุ่มพูโลนั้น พล.ท. ธิรา กล่าวว่า ขบวนการพูโลเป็นเพียงกลุ่มที่รับจ้างก่อเหตุรุนแรง และแทบจะไม่มีกองกำลังเหลืออยู่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และมารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง