บทสัมภาษณ์หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข หวังจะแก้ปัญหาได้ในปี 2570
2022.04.02
กัวลาลัมเปอร์
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ในวันเสาร์นี้ หลังจากที่ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจากับตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นตัวต่อตัวเป็นครั้งที่ 4 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย และนายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยมีการตกลงใน “หลักการโดยทั่วไป” (General Principles) ในสามหัวข้อ คือ การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ การปรึกษาหารือในพื้นที่ และทางออกตามวิถีการเมือง
ท้้งสองฝ่ายตกลงที่จะยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชั่วคราวในระหว่างเดือนรอมฎอน และทางการไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลับมาเยี่ยมบ้านในเดือนศักดิ์สิทธิ์ได้ในห้วงเวลานี้
เบนาร์นิวส์ : จากการที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข (General Principles) ซึ่งรวมถึงการหาทางออกทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกมิได้นั้น หมายความว่าบีอาร์เอ็นล้มเลิกความพยายามในการเรียกร้องเอกราชของเขาแล้วหรือเปล่า
พล.อ. วัลลภ : สำหรับ General Principle ที่ดำเนินการออกมาก็เป็นความเห็นที่เราได้ดำเนินการพูดคุยเป็นเวลาหลายเดือนด้วยกันจนได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่แถลงออกมา ตรงนี้ ผมคิดว่าประเด็นที่บีอาร์เอ็นยอมรับการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญของไทย ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะได้แสวงหาทางออกที่จะทำให้เกิดสันติสุขร่วมกันอย่างถาวร
เบนาร์นิวส์ : ท่านเลขาฯ เห็นว่าบีอาร์เอ็นจะพยายามใช้การพูดคุยเพื่อแสวงหาเอกราชอยู่หรือเปล่า
พล.อ. วัลลภ : จากข้อตกลง ผมคิดว่าบีอาร์เอ็นเองก็พยายามที่จะให้ชุมชนของตนเองมีสิทธิอะไรต่าง ๆ ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ก็คิดว่าเราคงร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งบีอาร์เอ็นเองก็เห็นว่าการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไทย น่าจะมีทางออกอื่นที่ตอบสนองความต้องการของบีอาร์เอ็นได้
เบนาร์นิวส์ : ประเทศไทยจะยินยอมได้มากน้อยแค่ไหน จะมีโอกาสยินยอมให้พื้นที่ภาคใต้เป็นเขตปกครองตนเองหรือไม่
พล.อ. วัลลภ : ตอนนี้ เราคงจะต้องใช้การปรึกษาหารือในพื้นที่เพื่อหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย แล้วก็เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อจะตอบสนองทุกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม
เบนาร์นิวส์ : ประชาชนเคยมีความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เกี่ยวกับขบวนการพูดคุยที่ผ่านมา แต่กับกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 คิดว่าประชาชนจะคาดหวังได้มากขึ้นหรือไม่ การพูดคุยครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อย่างไร
พล.อ. วัลลภ : จากการพูดคุยที่ผ่านมา บางทีการดำเนินการนี่อาจจะไม่มีความต่อเนื่องเพียงพอ ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังต่อกระบวนการพูดคุยน้อยลง แต่จากนโยบายของรัฐบาลและการพูดคุยครั้งนี้ที่มีความต่อเนื่อง ก็คิดว่าประชาชนเริ่มกลับมาเห็นความสำคัญของการพูดคุยมากขึ้น.. จากการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นสี่ครั้งที่ผ่านมา ก็มีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการพูดคุยครั้งนี้ที่ตกลงในเรื่องของ General Principle และเรื่องของความริเริ่มรอมฏอนสันติสุข ก็คิดว่าจะทำให้ประชาชนหันกลับมาสนใจและมีความหวังกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขนี้มากขึ้น
เบนาร์นิวส์ : ทางเบนาร์นิวส์รายงานเรื่องข้อตกลงในสามหัวข้อ ท่านเลขาฯ ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่า อะไรคือการหาทางออกทางการเมืองที่พูดถึง และมีเป้าหมายอย่างไร จะมีการดำเนินการอย่างไร
พล.อ. วัลลภ : การหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเราคิดว่าจะเป็นการหาทางออกสันติสุขที่ยั่งยืน เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาที่รากเหง้าที่มีหลายประเด็นที่จะต้องปรึกษาหารือร่วมกัน ซึ่งการหาทางออกทางการเมืองก็มีตั้งแต่เรื่องของการเมืองการปกครอง การยอมรับในอัตลักษณ์ชุมชนปัตตานี เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของยุติธรรม และเรื่องของกฎหมาย รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจการพัฒนา การศึกษา วัฒนธรรม และความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งพวกนี้จะมีรายละเอียดหลายเรื่อง ซึ่งต้องใช้การหารือร่วมกันเพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด
เบนาร์นิวส์ : ถ้าเกิดจะต้องหารือในประเด็นการหาทางออกทางการเมือง สักหนึ่งประเด็น ท่านเลขาฯ คาดว่าจะต้องใช้เวลายาวนานสักเท่าไร
พล.อ. วัลลภ : เราหวังว่าจะหาทางแก้ปัญหาได้ในปี 2570 ซึ่งเป็นแผนใหญ่ของรัฐบาล เพราะฉะนั้น เราก็พยายามที่จะดำเนินการในเรื่องของการพูดคุยให้เสร็จสิ้นในแผนของรัฐบาลนี้
เบนาร์นิวส์ : การที่จะให้บีอาร์เอ็นไปประกอบศาสนกิจ และเฉลิมฉลองฮารีรายอที่บ้านได้ ฝั่งบีอาร์เอ็นจะไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ถืออาวุธ ประเด็นนี้จะมีการติดตามการปฏิบัติได้อย่างไร ในเมื่อสมาชิกบีอาร์เอ็นมีความกลมกลืนกับในพื้นที่ จะแยกแยะอย่างไรว่าใครเป็นบีอาร์เอ็น ใครเป็นประชาชนทั่วไป
พล.อ. วัลลภ : ในห้วงรอมฏอน เราอยากจะให้ประชาชนมุสลิมทุกฝ่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ สามารถประกอบศาสนกิจได้อย่างเสรีและปลอดภัย ขณะเดียวกันกลุ่มของขบวนการบีอาร์เอ็นจะเข้าไปโดยไม่ถืออาวุธ เราก็ยินดี สำหรับในช่วงดังกล่าวเราก็จะอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน บีอาร์เอ็นบางฝ่ายที่จะเข้าไปก็จะแจ้งผ่านผู้อำนวยความสะดวกให้เราทราบด้วย
เบนาร์นิวส์ : ที่บอกว่าบีอาร์เอ็นต้องการเข้าไปในพื้นที่ หมายรวมถึงบีอาร์เอ็นจากฝั่งมาเลเซีย หรือเป็นบีอาร์เอ็นจากที่ไหน
พล.อ. วัลลภ : จากทุกที่ เราสามารถให้ประชาชนกลับเข้าไปจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย บีอาร์เอ็นจากทุกที่ก็สามารถกลับเข้าไปได้ แต่เฉพาะบีอาร์เอ็นในมาเลเซียที่จะต้องแจ้งผู้อำนวยความสะดวก [ฝั่งมาเลเซีย]
เบนาร์นิวส์ : ส่วนของมาเลเซียที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างไร
พล.อ. วัลลภ : เราก็จะให้เขาประกอบศาสนกิจได้อย่างเสรี ตราบใดที่เขาไม่ก่อเหตุ
เบนาร์นิวส์ : ตามที่รัฐบาลไทยต้องการจะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในปี 2570 หรือก่อนหน้านั้น เห็นว่าการพูดคุยในครั้งถัดไป จะมีประเด็นใดเป็นจุดเน้น หรือประเด็นใดที่จะต้องแก้ไขก่อนไปหารือในประเด็นอื่น ๆ
พล.อ. วัลลภ : ประเด็นแรก ๆ คือ เราอยากจะลดความรุนแรง เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ และถ้าในพื้นที่ไม่มีความรุนแรง สิ่งอื่น ๆ ก็จะตามมา เช่น การมีบรรยากาศที่ดี ที่ประชาชนจะมาปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองต่อไป
เบนาร์นิวส์ : คิดว่าประเด็น 3 ข้อ ประเด็นไหนมีการจัดการยากลำบากที่สุด
พล.อ. วัลลภ : ยากทั้งสามข้อแหละ แต่ว่าเราจะมีความร่วมมือกันได้อย่างไรเท่านั้นเอง
เบนาร์นิวส์ : มีอะไรที่ท่านเลขาฯ อยากทิ้งท้าย หรือจะใช้เป็นสื่อผ่านไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ. วัลลภ : ฝากขอบคุณบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ที่ทำให้การประชุมครั้งนี้มีผลความคืบหน้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ General Principle หรือสันติสุขในห้วงเดือนรอมฏอนก็ดี ในระยะอันใกล้นี้ก็อยากให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบห้วงรอมฏอนสันติสุขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี และในอนาคตก็อยากให้ประชาชนสนับสนุนกระบวนการสันติสุขให้เดินหน้าต่อไป และประชาชนก็มาให้ความร่วมมือในการแสวงหาทางออกในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน