มาริษ รับเร่งช่วยลูกเรือประมงไทยที่ถูกทหารเมียนมาจับให้เร็วที่สุด
2024.12.02
กรุงเทพฯ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะเร่งช่วยเหลือแรงงานประมงชาวไทย 4 คน ซึ่งถูกทหารเรือเมียนมาควบคุมตัวไปเมื่อวันเสาร์ โดยระบุว่า ได้พูดคุยกับฝ่ายเมียนมาแล้ว และเมียนมาก็แสดงความกังวลถึงกรณีที่เกิดขึ้น และพร้อมร่วมมือกับไทยในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
“วันนี้ ท่านอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้เชิญเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยมาพบ ท่านก็แสดงความเสียใจ ก็รับที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นไปหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้บริหารของรัฐบาลของเมียนมา ผมได้ส่งข้อความไปให้กับ ท่านรัฐมนตรีตานฉ่วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา ซึ่งท่านก็ได้ติดต่อมา แสดงความห่วงกังวล และยินดีที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้กับประเทศไทยอย่างเต็มที่” นายมาริษ กล่าว
การแถลงครั้งนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลา 00.45 น. ของวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. 2567 เรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนมาโจมตีจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมทั้งมีเรือประมงไทยที่ถูกควบคุมไว้ 1 ลำ
นายมาริษ ยังระบุว่า ได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เดินทางเข้าพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เพื่อหาทางออกเรื่องนี้แล้วเช่นกัน
“รับปากว่า เราจะดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เราจะให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย แล้วก็จะพยายามอย่างยิ่ง ดำเนินการทุกวิถีทางในทุกระดับ ทุก ๆ ช่องทางที่จะนำเอาลูกเรือไทยทั้งหมด 4 คน เดินทางกลับประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด” นายมาริษ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ประท้วงไปยังกองทัพเมียนมาว่า กรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
“ทหารพยายามดูแล และยังไม่ชัดเจนว่ารุกล้ำน่านน้ำเมียนมาหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นคือเป็นเรือประมง ไม่ใช่เรือติดอาวุธ ก็ได้ประท้วงไปว่าทำเกินกว่าเหตุ อย่างไรก็ตาม ต้องรอการดำเนินการทางการทูต ซึ่งทหารได้ตรึงพื้นที่ไว้” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม ระบุว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิต จำเป็นต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศ
“เส้นแบ่งทางทะเลไม่ชัดเจนในเรื่องการแบ่งร่องน้ำ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา ขณะที่ประชาชน 2 ฝั่งก็ไปมาหาสู่กัน โดยคณะกรรมการประสานงานชายแดนท้องถิ่นก็อะลุ่มอล่วยกัน ถือเป็นแหล่งหากินของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้ยังมีการถกเถียงเรื่องความชัดเจนของพื้นที่ แต่ยืนยันเรายึดเส้นเรา” นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ฝ่ายไทยได้ประสานกับเมียนมาไปแล้วผ่านช่องทาง คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee - TBC)
“ปัจจุบันกลไกความร่วมมือทุกระดับทั้งในพื้นที่และระดับภูมิภาคกำลังช่วยแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1-2 วัน ก็น่าที่จะเรียบร้อย” พล.ต. ธนาธิป กล่าว
สำหรับรายละเอียดกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ย. 2567 พล.ร.อ. พาสุกรี วิลัยรักษ์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า ทุกฝ่ายกำลังเจรจาเพื่อช่วยเหลือเรือประมง รวมถึงลูกเรือประมงชาวไทย
เบื้องต้นทราบว่า เรือที่ถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา 1 ลำ ชื่อว่า เรือ ส.เจริญชัย 8 มีลูกเรือ 31 คน โดยในนั้นมีลูกเรือชาวไทย 4 คน คาดว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่เกาะย่านเชือก และเรือที่ถูกโจมตี คือ เรือดวงทวีผล 333 มีลูกเรือ 29 คน เสียชีวิต 1 คน จากการจมน้ำ และเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 มีลูกเรือ 33 คน บาดเจ็บ 2 คน
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง
“เราไม่สนับสนุนความรุนแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าในเหตุการณ์กรณีใดก็ตาม เรายืนยันเรื่องนี้ไปทั่วโลกอยู่แล้วว่าไม่สนับสนุนความรุนแรง เดี๋ยวขอสรุปสาเหตุอีกทีนึงว่าเป็นอย่างไร” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ปลายปี 2563 เรือรบเมียนมาเคยควบคุมตัว เรือตกปลาไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวไทย-จีน 20 คน โดยอ้างว่า เรือตกปลาได้ล้ำน่านน้ำเมียนมา นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ถูกควบคุมตัวอยู่ในเมียนมาอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศไทยในเวลาต่อมา หลังการเจรจาของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมา