ทหารเมียนมาข้ามพรมแดนและตกค้างในดินแดนไทย
2023.09.14
กองกำลังทหารเมียนมาที่ติดอาวุธครบมือจำนวน 80 ถึง 100 นาย ยังคงตกค้างอยู่ในดินแดนไทย หลังจากที่เดินทางข้ามพรมแดนเข้ามานานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ทำให้นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าอนุญาตให้กองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้ามาได้อย่างไรโดยไม่ได้ชี้แจงต่อประชาชน
“ถ้าเป็นหลักของอธิปไตย ประเทศไทยโดนหนักนะ คือปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธต่างชาติในเครื่องแบบเดินเข้ามาในประเทศไทย ชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมาแล้วใครจะช่วยพวกเขา” นายกัณวีร์ สืบแสง สส. พรรคเป็นธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นายกัณวีร์ กล่าวว่าตนได้รับทราบข้อมูลมาจากชาวบ้าน เอ็นจีโอ และทหารชนกลุ่มน้อย
อย่างไรก็ตาม พลตรีหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ดูแลพื้นที่ไม่พบกองกำลังเมียนมาตามที่นายกัณวีร์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
นายกัณวีร์ กล่าวว่า กองกำลังทหารเมียนมาข้ามพรมแดนเข้ามาเมื่อวันที่ 3 กันยายน หลังจากที่โดนกองกำลังกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army - KNLA) โจมตีขับไล่ออกจากฐานตีกาเลแป ในเมืองกะยินเซกี้ จังหวัดกอกะเร็ก ซึ่งตรงกับอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นายกัณวีร์ กล่าวว่ากองกำลังต่อต้านรัฐบาลได้ขัดขวางไม่ให้ทหารเมียนมาย้อนกลับเข้าฐาน ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านเลตองคุ ในอำเภออุ้มผาง ได้รายงานให้เจ้าหน้าที่ไทยทราบว่ามีทหารเมียนมารุกล้ำแดนไทยเข้ามา แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ขับไล่ทหารเมียนมาออกไป
บางกอกโพสต์รายงานว่า เมื่อมีการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทหารไทยได้เจรจาต่อรองกับทหารเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยขอให้ทหารกะเหรี่ยงยินยอมให้ทหารเมียนมากลับเข้าไปในพื้นที่ประเทศตน
เจ้าหน้าที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย ว่า ทหารเมียนมาที่เข้ามาประกอบด้วยทหารในสังกัดกองพลที่ 561, 339 และ 559 ซึ่งเป็นหน่วยรบของกองกำลังภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เข้ามาตั้งวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมานี้
นายกัณวีร์ สืบแสง สส. พรรคเป็นธรรม อภิปรายในรัฐสภา (ภาพ รัฐสภา)
ข้อมูลขัดแย้งกัน
ในวันพฤหัสบดีนี้ พลตรีหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ได้ปฏิเสธข้อมูลของนายกัณวีร์
“ที่มีข้อกล่าวหาที่ว่ากองกำลังของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา กองกำลังนเรศวรเป็นผู้ดูแลแนวชายแดนร่วมกับฝ่ายปกครอง ขอเรียนว่าไม่พบ” พลตรีหญิง ศิริจันทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ในทางปฏิบัติ ตามแนวชายแดนมีการเดินทางของพี่น้องประชาชนสองประเทศ ตามแนวตะเข็บชายแดน เส้นทางธรรมชาติ กองกำลังนเรศวรทำหน้าที่ติดตามเต็มความสามารถ ร่วมกับศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน” พลตรีหญิง ศิริจันทร์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ทางการไทยได้จัด “เซฟโซน” หรือพื้นที่พักพิงเป็นการชั่วคราวให้กับผู้หลบภัยการสู้รบตามหลักสิทธิมนุษยชน และจะส่งพวกเขากลับบ้านโดยสมัครใจ เมื่อสถานการณ์สงบลงและมีความปลอดภัยแล้วเท่านั้น
ด้านเจ้าหน้าที่สหภาพกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) ซึ่งเป็นปีกการเมืองของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง กล่าวว่า ทหารเมียนมาเหล่านั้นไม่ได้หลบหนีการโจมตี แต่พวกเขาตั้งใจข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเตรียมโจมตีที่ตั้งทหารฝ่ายกะเหรี่ยงจากฝั่งไทย
“ในอดีต พวกเขาแอบเข้าพื้นที่ (รัฐกะเหรี่ยง) โดยใช้เส้นทางจากประเทศไทย” พันตรี ซอมินต์เมี๊ยะ แห่งสังกัด Venom Commando Army ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษภายใต้องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defense Organization - KNLO) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองปีกทหารของสหภาพกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู
“เดี๋ยวนี้มันก็คงเหมือนเดิม พวกเขาข้ามพรมแดนไปเพื่อเตรียมเปิดการโจมตีหรือตั้งรับเพื่อไม่ให้สูญเสียฐานที่ตั้ง” พันตรี ซอมินต์เมี๊ยะกล่าว
เรดิโอฟรีเอเชีย ไม่สามารถติดต่อ พลตรี ซอมินทุน โฆษกรัฐบาลเมียนมาเพื่อขอความคิดเห็นได้
ทหารรัฐบาลเมียนมาเฝ้าระวังที่จุดตรวจความมั่นคง จังหวัดกอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ทางทิศตะวันออกของเมียนมา วันที่ 7 เมษายน 2564 (ฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ส/เอเอฟพี)
เข้าใจผิดหรือ
ต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์ที่สนับสนุนรัฐบาลเมียนมากล่าวว่า ทหารเมียนมาเหล่านั้นคงข้ามพรมแดนไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ
“ถ้าพวกเขาเข้าไปเพื่อการปฏิบัติหรือการฝึกร่วมกัน นั่นถือว่าเป็นการเข้าไปในไทยอย่างเป็นทางการ หากไม่เช่นนั้น ก็เป็นการเข้าไปโดยยังเอิญ” เทียนตุนอู ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ทานิงกา (Thayninga Institute of Strategic Studies) กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
ส่วนนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยรายหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าทหารเมียนมาหลบหนีการโจมตีในรัฐกะเหรี่ยงแล้วข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทยได้ นั่นเป็นเพราะทหารไทยในพื้นที่ยินยอมให้พวกเขาเข้ามา
“ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกัน จึงปล่อยให้พวกเขาเข้ามา แต่คงเป็นการลำบากที่จะเข้ามาอีก เพราะมีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ในรัฐสภา ฝ่ายค้านได้วิจารณ์ในเรื่องนี้” นักเคลื่อนไหวคนเดียวกันกล่าว
ในช่วงที่การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมาและฝ่ายกะเหรี่ยงรุนแรงในปีที่แล้ว เครื่องบินมิก 29 ของกองทัพอากาศเมียนมาได้ล้ำน่านฟ้าไทย ทำให้มีการอภิปรายถึงเรื่องนี้ในรัฐสภา
ตานโซนาย นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า แม้ว่า สส. ฝ่ายค้านของไทยจะกล่าวว่า การข้ามพรมแดนเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศ แต่ทางทหารไทยคงไม่ลงมือปฏิบัติการที่มีประสิทธิผล เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเมียนมา
สส. กัณวีร์ ระบุว่า “เมียนมาละเมิดอธิปไตยของไทย มันทำให้ทหารบกไม่สบายใจ แต่ผมไม่คิดว่ากองทัพบกจะยกระดับมาตรการความมั่นคงใด ๆ”