จับกุมชาวเมียนมากว่า 160 คน หนีเกณฑ์ทหารทะลักเข้าชายแดนไทย
2024.02.22
เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมชาวเมียนมาจำนวน 167 คน ที่หลบหนีออกจากประเทศเมียนมาเข้าไทย หลังจากรัฐบาลเมียนมาสั่งบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Migrant Assistance Program - MAP Foundation)บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์
อู โม โจ ประธานองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานชาวเมียนมา (Joint Action Committee for Burmese Affairs - JACBA) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 12-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชากรชาวเมียนมาหลายสิบคนถูกจับกุม ขณะหลบหนีเข้าชายแดนฝั่งใต้และตะวันตกของประเทศไทย
“จำนวนผู้หลบหนีอาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะในความเป็นจริง เรารู้ว่ายังมีชาวเมียนมาที่ถูกจับกุมในพื้นที่ที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้อีก” เขาอ้างว่าได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมมาจากเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ในประเทศที่กระขายข้อมูลเรื่องการจับกุมต่อกัน
ตั้งแต่ที่ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหารเมียนมาในปี 2564 ประกาศบังคับใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร (People’s Military Service Law) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 พลเมืองเมียนมาก็ล้วนรีบเร่งที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ ผ่านทั้งเส้นทางถูกกฏหมายและผิดกฎหมาย เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้กองทัพรัฐบาลเมียนมา
จึงเป็นเหตุให้ประชากรชาวเมียนมาล้นทะลักสำนักงานหนังสือเดินทางและสถานทูตทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีข่าวการจับกุมเยาวชนจำนวนมากที่สร้างความตื่นตระหนก หรือแม้ ซอ มิน ทุน โฆษกของกองทัพเมียนมา ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า จะยังไม่มีการเกณฑ์ทหารก่อนเดือนเมษายนก็ตาม
ลำธารกั้นระหว่างไทยและเมียนมาที่บ้านวาเลย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรพบพระบอกว่า มีผู้คนจำนวนมากกำลังข้ามมาที่นี่ ภาพวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)
กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารระบุว่า ประชากรชาวเมียนมาทั้งชายและหญิงต้องเข้ารับราชการทหารเพื่อรับใช้ชาติจำนวน 50,000 คนต่อปี หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดให้ผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี และผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี เข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี ส่วนพลเมืองที่มีทักษะความสามารถพิเศษอายุระหว่าง 18-45 ปี เช่น แพทย์ ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 3 ปี แต่สามารถขยายระยะเวลาได้ถึง 5 ปี เนื่องจากประเทศยังตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผู้ใดก็ตามที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดี และเสริมด้วยว่าเจ้าหน้าที่รับรู้และตื่นตัวกับสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว
อู โม โจ เผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัย 20 คน ถูกจับกุมในสองพื้นที่บริเวณชายแดน โดยพบเจอผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
“เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยหยุดและตรวจสอบรถที่ด่าน พวกเขาจึงเจอพลเมืองชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศไทย โดยไม่มีเอกสารอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย 13 ราย และชาวเมียนมาสารภาพกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่าพวกเขาเสียค่านายหน้าจำนวน 15,000 บาท (ราว 418 ดอลล่าร์สหรัฐ) เพื่อลักลอบเข้าชายแดนไทย”
ส่วนผู้อพยพชาวเมียนมากลุ่มอื่น ๆ ถูกจับกุมที่จังหวัดระนอง สงขลา และชุมพร
หวาดกลัวจึงหลบหนี
หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร จังหวัดตาก จับกุมกลุ่มผู้ลักลอบเข้าชายแดนได้กว่า 54 ราย ตั้งแต่วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ บริเวณชายแดนหมู่บ้านวาเลย์ ขอบเขตอยู่ห่างจากชายแดนแม่สอด-เมียวดีไปทางใต้เป็นระยะทาง 57 กิโลเมตร (35 ไมล์)
พ.อ. ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู แจ้งกับเรดิโอฟรีเอเชียในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ประชากรชาวเมียนมา 249 ราย และนายหน้าอีก 13 ราย ถูกจับกุมที่บริเวณพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน ในจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1-21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร แต่เผยว่า ตลอดทั้งเดือนมกราคมจำนวนผู้หลบหนีเข้าประเทศไทยถูกจับกุมเพิ่มขึ้นจาก 183 รายแล้ว โดยกลุ่มประชากรเมียนมากลุ่มหนึ่งที่ถูกจับมีทั้งหมด 27 ราย มีอายุระหว่าง 20-29 ปี และสารภาพกับสื่อไทยว่าหลบหนีเพราะไม่อยากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
ผู้หญิงและลูกชายยืนอยู่หน้าด่านชายแดนที่บ้านวาเล่ย์เหนือ ในประเทศไทย วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)
“หลายคนหนีเข้ามาทางบ้านวาเลย์ แต่หลังจากที่ถูกจับกุมแล้ว ผู้ต้องหาจะถูกส่งตัวไปยังอำเภอแม่สอด” เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอำเภอพบพระ ให้ข้อมูล โดยขอสงวนนามเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์กับสื่อ
“พลเมืองชาวเมียนมาหลายรายใช้เส้นทางนี้หลบหนีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เราก็เข้าใจเขาว่า เขาอยากได้งานและความมั่นคงปลอดภัย”
ด้านองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัยก็ชี้ว่า รัฐบาลไทยควรจะพิจารณาหาทางออกที่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์อย่างจริงจังสำหรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารจากประเทศเมียนมา เนื่องจากระบบของรัฐบาลทหารเริ่มจะยากที่จะต่อกร
บ้านในเมียนมาที่อยู่ห่างเพียงไม่กี่เมตรจากชายแดนบ้านวาเล่ย์ของไทย วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง ก็ออกมาประกาศจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเป็น 400 รายต่อวัน เนื่องจากคลาคล่ำไปด้วยพลเมืองชาวเมียนมาจำนวนมากที่เข้ามาขอทำวีซ่าเข้าประเทศไทยภายในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ก็ออกมาประกาศปิดรับการขอทำวีซ่าเข้าประเทศไทย ด้วยสาเหตุเดียวกัน
บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ออกความเห็นว่า นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่อันตราย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์ที่นายหน้าลักลอบนำพาผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้าชายแดนไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับจนเกิดอุบัติเหตุรถชนและมีผู้เสียชีวิต ดังนั้นจึงหวังว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
“ผมมั่นใจว่า ระบบใดก็ตามที่ใช้กำกับควบคุมแรงงานอพยพแต่เดิม ต่อไปคงจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต”