นักวิเคราะห์ : ไทยนำเจรจาเมียนมา ส่อความแตกแยกประเทศอาเซียน
2023.06.20
กรุงเทพฯ และจาการ์ตา

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ประเทศไทยจัดการประชุมกับรัฐบาลทหารเมียนมา นำมาซึ่งบททดสอบความเป็นเอกภาพของอาเซียน และยังมีคำถามว่าทำไมรัฐบาลรักษาการณ์ของประเทศไทยจึงจัดการประชุม หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว
ประเทศสมาชิกหลักของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเมียนมา – มาเลเซีย สิงคโปร์ และประธานอาเซียนปัจจุบันอย่างอินโดนีเซีย – ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม ซึ่งไทยออกมาโต้เมื่อวันอังคาร โดยกล่าวว่า จัดขึ้นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย
ประเทศไทย เมียนมา พร้อมด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงอินเดีย และจีน เข้าร่วมการประชุมที่เมืองพัทยา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในแถลงการณ์หลังจากนั้น
เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมนั้นมีทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ นักการทูต และตัวแทนจากประเทศสมาชิก
อย่างไรก็ตาม กัมพูชาและฟิลิปปินส์ “ส่งสัญญาณถึงความอึดอัดใจ” ด้วยการไม่ส่งนักการทูตระดับสูงมาเข้าร่วม ฮันเตอร์ เอส. มาร์สตัน นักวิจัยเรื่องความสัมพันธ์อาเซียน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุ
“[ไทย] กำลังนำการบ่อนทำลายความสำคัญของอาเซียน โดยบีบเหล่าประเทศสมาชิกให้เหลือแต่ทางเลือกที่น่าอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องการให้ถูกเหมารวมว่าเต็มใจเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาลทหารเมียนมา” นายมาร์สตัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ถึงความพยายามของประเทศไทยที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเมียนมา
การประชุมที่ “เป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสียการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูต และถูกเมินความสนใจในสิ่งที่สำนักงานทูตพิเศษที่จาการ์ตาได้ปฏิบัติมา” มาร์สตัน เสริม
นายมาร์สตัน กล่าวด้วยว่า แนวทางของไทยยังขัดแย้งกับแนวทางของอินโดนีเซียที่กระทำอย่าง “ระมัดระวัง และครอบคลุมทุกประเทศสมาชิกทางการทูต”
“ประเทศสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, และมาเลเซีย แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการของประเทศไทย”
อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนในปีนี้ได้จัดตั้งสำนักงานทูตพิเศษในเมียนมา เพื่อจัดการกับวิกฤตที่ปะทุขึ้นในประเทศนั้น หลังจากที่ทหารเมียนมาได้ขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เผยเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า อินโดนีเซียยังทำงานอย่างระมัดระวังคู่ขนานไปกับทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึง จีน อินเดีย และไทย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลังการรัฐประหารของเมียนมา
ในเดือนตุลาคม 2564 ประเทศสมาชิกอาเซียนปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการเมียนมาไม่รักษาคำมั่นในฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือนเมษายนปี 2564
สหประชาชาติและนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า กองทัพเมียนมาได้สังหารพลเรือนหลายพันราย และทำให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นกว่า 1.5 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประเทศไทยระบุว่า ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อเสริมความพยายามของอาเซียนและเพื่อปกป้องชายแดนที่มีความยาวถึง 2,400 กิโลเมตร จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรง
“เพื่อนอาเซียนของเราอยู่ไกล ไม่มีชายแดนติดต่อกัน เขาก็ว่าไปตามทฤษฎี ปัญหาเกิดขึ้นแต่เขาไม่ได้เห็นปัญหาวันต่อวันที่เกิดขึ้น” ดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ พร้อมระบุด้วยว่า อาชญากรรมข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อคนไทยและนักธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก
ผู้ร่วมประชุมทุกคนเห็นว่า การประชุมมีประโยชน์ และอยากให้ประเทศไทยจัดการประชุมแบบนี้อีก ดอน กล่าวเสริม
แต่ งูราห์ สวาจายา ที่ปรึกษาพิเศษทางการทูตประจำภูมิภาค กระทรวงการต่างประเทศประเทศอินโดนีเซีย กล่าวย้ำในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่า ประเทศอินโดนีเซียมีความมุ่งมั่นในการรับมือกับวิกฤตผ่านการประชุมอย่างเป็นทางการตามกลไกอาเซียนเท่านั้น
“หากประเทศหนึ่งริเริ่มที่จะทำ ก็ไม่เป็นไร นั่นเป็นสิทธิ์ของพวกเขา” งูราห์ กล่าวในการแถลงข่าว
“แต่ถ้าเราพูดถึงว่า นี่เป็นบริบทของอาเซียน, มันมีกฎกติกาของมัน มีฉันทามติ 5 ประการ ซึ่งที่ประชุมสุดยอดได้มีมติแล้ว และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ หรือ “Track 1.5” กับรัฐบาลทหารเมียนมา
ในเดือนมีนาคม ประเทศไทยจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของประเทศเมียนมา เช่น กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ร่วมกับจีน และ บังกลาเทศ หารือในประเด็นที่เกี่ยวกับชายแดนและการจัดการวิกฤต ในเดือนต่อมา ประเทศอินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในลักษณะเดียวกัน
“มีสมาชิกในอาเซียนบางประเทศที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่าประเทศอื่น” โจแอน ลิน ผู้ประสานงานศูนย์อาเซียนศึกษาของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าว
“ประเทศในอาเซียนที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาต่างมีความกังวลในเรื่องต่าง ๆ กันของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึง ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ลี้ภัย, การค้ามนุษย์, การค้ายาเสพติด และเป็นเหตุผลให้ประเทศเหล่านั้นรู้สึกถึงความจำเป็นที่ควรมีส่วนร่วม [กับรัฐบาลทหารเมียนมา] ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” โจแอน กล่าว
พลเอก มิน ออง ลาย ผู้บัญชาการทหารเมียนมา (ซ้าย) จับมือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 30 สิงหาคม 2560 (รอยเตอร์)
การรักษาอำนาจ
ในขณะที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลปัจจุบันของประเทศไทยยังได้จัดการประชุม แม้ว่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประชุมหารือน่าจะเป็นความพยายามของ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาอิทธิพลและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมา ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง
ดอน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวว่า มีการตัดสินใจในการจัดการประชุมและการดำเนินการจัดงานได้เริ่มไปแล้ว ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่งจะรับรองผลการเลือกตั้ง (เมื่อวันจันทร์) เขาไม่เห็นว่า ทำไมจึงต้องรอ ถ้าเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทย
แต่พรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจากการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงเจตจำนงของพรรคมากขึ้นสำหรับนโยบายต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติต่อประเทศเมียนมา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลของเขาจะยึดมั่นในการให้ความสำคัญกับอาเซียนต่อประเด็นเมียนมา
“โดยการให้ความสำคัญกับอาเซียนในการแก้ปัญหา ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการจัดวางแนวทางการดำเนินงานบริหารภายในประเทศใหม่ เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างเสถียรภาพและอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองเพื่อประชาชนชาวไทย และเมียนมา รวมถึงทั่วทั้งภูมิภาคนี้” พิธา ระบุในแถลงการณ์
ซาไล บาวี นักวิชาการด้านการเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะมีการปรับแผนการดำเนินงานที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ได้ทำไว้ ใหม่ทั้งหมด
“ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา กองทัพไทยได้สร้างความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับรัฐบาลทหารเมียนมา” ซาไล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ดังนั้น การรักษาเครือข่ายอำนาจของกองทัพไทยและรัฐบาลเมียนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ... เชื่อว่านี่เป็นความพยายามของรัฐบาล [รกษาการณ์ปัจจุบัน] ที่จะรักษาเครือข่ายอิทธิพลไว้”
กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน กล่าวถึงรัฐบาลไทยที่จัดการประชุมกับรัฐบาลทหารเมียนมาและประเทศอื่น ๆ ว่า “หยิ่งยโสต่อเอกภาพของอาเซียน ต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวเมียนมา และแม้แต่เจตจำนงของพลเมืองตนเอง”
เตรีย ดิอานติ ในจาการ์ตา แฮรี่ เพิร์ล ในบาหลี วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน