ไทยย้ำช่วยเหลือชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบเข้า-ออกพรมแดน ร่วม 5 พันคน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.28
กรุงเทพฯ
ไทยย้ำช่วยเหลือชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบเข้า-ออกพรมแดน ร่วม 5 พันคน ผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา เข้ามาในพรมแดนไทย ขณะยืนพักรอภายในบริเวณที่พักพิงชั่วคราว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 20 ธันวาคม 2564
รอยเตอร์

เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยกล่าวในวันอังคารนี้ว่า ชาวกะเหรี่ยงเดินทางข้ามไปมาระหว่างชายแดนด้านจังหวัดตาก แม้ว่าในต้นสัปดาห์นี้ไม่มีรายงานการปะทะในพื้นที่ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด ขณะที่รัฐบาลได้เตรียมการอพยพประชาชนในกรณีฉุกเฉิน พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก กล่าวในรายงานสรุปสถานการณ์ว่า ทางการได้ประชาสัมพันธ์ให้มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุไว้

“กองกำลังป้องกันชายแดน ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานราชการพื้นที่ดำเนินการปรับปรุงหลุมหลบภัยเดิมที่มีอยู่ประจำหมู่บ้านให้พร้อมใช้งาน และให้ซักซ้อมแผนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุประจำพื้นที่” ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก กล่าวในรายงานสรุปสถานการณ์ และระบุว่าไม่มีการสู้รบในต้นสัปดาห์นี้

“การสู้รบในพื้นที่ประเทศเมียนมาบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้มีผู้หนีภัยข้ามไป-มา ระหว่างไทย-เมียนมา ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ และเมื่อวันศุกร์มีหัวกระสุนปืน RPG ตกใส่หลังคาบ้านประชาชน 1 หลัง ในพื้นที่บ้านหมื่นฤาชัย อ.พบพระ และมีกระสุนปืนหลายสิบนัดตกบริเวณริมแม่น้ำเมย จ.ตาก ซึ่งหน่วยความมั่นคงไทยได้ใช้กระสุนควันยิงขึ้นฟ้าเพื่อเป็นสัญญาณเตือน” ศูนย์สั่งการฯ ระบุเพิ่มเติม

ด้าน พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ในเรื่องนี้ กองทัพบกได้ประท้วงรัฐบาลเมียนมาผ่านคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้ระมัดระวังในการใช้อาวุธ และแจ้งว่าไทยพร้อมที่จะตอบโต้หากมีการละเมิดอธิปไตยไทย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าระวังปัญหาชายแดนไทย-เมียนมาเป็นพิเศษ หลังจากที่มีผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมาคงค้างในพื้นที่จังหวัดตาก มียอดร่วม 5 พันคน ในวันอังคารนี้

“ท่านนายกฯ ย้ำการแก้ไขสถานการณ์เมียนมา โดยไทยยึดหลักแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาเซียนได้ตกลงไว้ ในการจัดระเบียบแนวทางการดูแลในประเทศเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ส่วนการดูแลบริเวณชายแดน มอบหมายให้กองทัพ สำหรับการช่วยเหลือผู้หนีภัยก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม”​ นายธนกร กล่าว

การหนีภัยของชาวเมียนมามายังประเทศไทยรอบนี้ เริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 หลังจากที่ทหารรัฐบาลเมียนมาใช้กำลังปะทะกับกองกำลังกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army) และกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน ในพื้นที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งไม่ไกลจากชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้มีชาวเมียนมาและกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งหนีภัยการสู้รบข้ามแม่น้ำเมย มายังอำเภอแม่สอดและอำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยมียอดสูงสุดกว่า 6,800 คน เมื่อวานนี้ ตามรายงานของจังหวัดตาก

กองทัพพม่าได้ใช้ปืนใหญ่ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินไอพ่นโจมตีพื้นที่ต่าง ๆ ที่กองกำลังต่อต้านรัฐบาลยึดครองอยู่ เช่น ในหมู่บ้านเมตอตะเล ตรงข้ามแม่สอด และเมืองเลเกก่อ ตรงข้ามอำเภอพบพระ

ส่วนในวันอังคารนี้ นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก ได้เปิดเผยผ่านประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก ว่าทางจังหวัดมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับผู้หนีภัยการสู้รบ 3 แห่ง มียอดรวม 4,815 คน โดยเป็นแหล่งพักพิงในแม่สอด 2 แห่ง คือ ที่คอกวัวมหาวันเมยโค้ง จำนวน 3,625 ราย และที่สนามกีฬาบ้านแม่กุหลวง 1,042 คน ส่วนแห่งที่สาม คือที่บ้านหมื่นฤาชัย ในพื้นที่ของอำเภอพบพระ เหลือ 148 คน

สหรัฐฯ ประณามเมียนมา

ในวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ได้ก่อเหตุสังหารผู้บริสุทธิ์ ในรัฐคะยา เมื่อก่อนวันคริสต์มาส

“สหรัฐประณามการที่ทหารรัฐบาลพม่าได้โจมตีเป้าหมายเสียชีวิต 35 คน ซึ่งรวมทั้งเด็ก สตรี และเจ้าหน้าที่ขององค์กร Save the Children ในรัฐคะยา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมนี้ เราได้รับรู้การกระทำที่ป่าเถื่อนของทหารรัฐบาลไปเกือบทุกหัวระแหงในประเทศ รวมทั้งในรัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยง” แถลงการณ์ระบุ

“การเล็งเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และผู้ที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และการกระทำอันโหดร้ายของทหารที่มีต่อประชาชนพม่าเป็นการเน้นย้ำให้กองทัพต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น”

ในวันเดียวกันนี้ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporters Without Borders (RSF) กล่าวว่า ไซ วิน ออง (Sai Win Aung) หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า A Sai K ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมา ถูกสังหารใกล้ชายแดนไทย ในขณะรายงานข่าวผู้อพยพเมื่อวันคริสต์มาส พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติแซงก์ชั่นรัฐบาลเมียนมาให้เข้มข้นขึ้น

ไซ วิน ออง เป็นผู้สื่อข่าวรายที่สองที่เสียชีวิต ในห้วงเวลาสองสัปดาห์  

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการ ฝ่ายกิจการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ได้แถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลเมียนมาเช่นกัน และต่อมาในวันอังคารนี้ ดร. โนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติ ประจำเมียนมา ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาหยุดยิง

อาหารขาดแคลน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งจังหวัดตากได้มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยหลายจุด รองรับผู้หนีภัยสงครามตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกาชาดประจำจังหวัดและเอกชนร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม นายวัลลภ มาลัย ซึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่ จ.ตาก กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้หนีภัยได้รับการดูแลในพื้นที่ปลอดภัย แต่สิ่งที่ขาดแคลนคืออาหาร โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่ที่ว่าการอำเภอแม่สอด ซึ่งเจ้าหน้าที่กาชาด และอาสาสมัครจะดำเนินการแจกจ่ายต่อ

ผู้ลี้ภัยส่วนมากเข้ามาแบบตัวเปล่า หนีตาย ไม่มีสิ่งของหรืออาหารติดตัว ที่ผ่านมามีคนเอาของมาบริจาคให้ แต่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า หน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกเรื่องประสานงาน แต่ไม่ได้มีงบประมาณช่วยเหลือเรื่องอาหาร ตอนนี้ มีผู้ลี้ภัยประมาณ 5 พันคน ต้องการข้าวกล่อง 3 มื้อต่อวัน ๆ ละประมาณ 15,000 พันกล่อง ซึ่งวัตถุดิบในการทำอาหารยังขาดแคลนอยู่” นายวัลลภ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง