ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 3,000 คน ถูกไทยส่งตัวกลับประเทศ

รายงานพิเศษสำหรับเบนาร์นิวส์
2022.02.01
ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 3,000 คน ถูกไทยส่งตัวกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ซึ่งได้หลบหนีการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และเข้าไปตั้งรกรากชั่วคราวอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเมย (ภาษาพม่าเรียกว่า ตองยิน) ได้รับความช่วยเหลือจากไทยที่ชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565
เรดิโอฟรีเอเชีย

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 3,000 คน ติดค้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมย หรือแม่น้ำตองยิน (ภาษาพม่า) ฝั่งเมียนมา หลังจากที่ไทยรื้อเต็นท์ชั่วคราวที่ไร่ปศุสัตว์ในฝั่งไทย และส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบอกเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันจันทร์

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาจากเมืองเลเกก่อ ในรัฐกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทย แต่ได้มาตั้งค่ายที่ไร่แม่กอกิน เพื่อหลบหนีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองของตน เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม

ทหารที่ภักดีต่อรัฐบาลทหารที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ได้เข้าไปที่เมืองเลเกก่อ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เพื่อจับกุมตัวผู้ที่เข้าไปลี้ภัยที่นั่น รวมถึงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งจากพรรคฝ่ายค้านที่ถูกโค่น และข้าราชการที่เคยมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน โดยไม่ยอมไปทำงาน

เมื่อทหารเริ่มโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่เข้าไปในเมืองเลเกก่อ ชาวบ้านได้หลบหนีออกจากเมืองนั้น โดยบางคนหลบหนีเข้าไปในประเทศไทย

แทนที่จะกลับไปยังเมืองที่ตนเคยอยู่ ขณะนี้ ผู้ลี้ภัยที่เพิ่งถูกส่งตัวกลับ กำลังพักอยู่ในกระท่อมชั่วคราวริมแม่น้ำตองยิน

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของไทยรื้อค่ายดังกล่าวออกในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ตอนนี้ไม่มีผู้ลี้ภัยเหลืออยู่ในค่ายนั้นแล้วเคยมีผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 3,000 ถึง 4,000 คน ซึ่งไม่กล้ากลับบ้าน” เย มิน อาสาสมัครจากกลุ่มพันธมิตรช่วยเหลือแรงงานพม่า (Aid Alliance Committee) องค์กรเรียกร้องสิทธิคนงานอพยพที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย บอกกับภาคภาษาพม่าของเรดิโอฟรีเอเชีย

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ใช้ผ้าใบกันน้ำสร้างที่พักอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำตองยิน ในฝั่งพม่า” เย มิน กล่าว

เย มิน ประเมินว่า ผู้ลี้ภัย 3,000 คน ที่เพิ่งถูกส่งตัวกลับ ได้เข้าไปหลบภัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้ชายแดนในเมียนมา สมทบกับผู้ลี้ภัยภายในประเทศราว 10,000 คน

การสู้รบอย่างรุนแรงได้ปะทุขึ้นในบริเวณนั้นเมื่อเดือนธันวาคม ชาวบ้านประมาณ 20,000 คน ได้หลบหนีจากบ้านเรือนไปซ่อนอยู่ตามสองฝั่งของแม่น้ำสายนั้น

แม้หลายคนจะกลับบ้านแล้วก็ตาม แต่บางส่วนที่เหลือจาก 20,000 คน ยังอยู่ที่ฝั่งไทย และได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่

เราขาดแคลนน้ำดื่ม เด็กหลายคนไม่สบาย เพราะฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน” ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย บอกเรดิโอฟรีเอเชีย

พวกเราหลายคนมีอาการท้องร่วง หลังจากดื่มน้ำและกินอาหารที่ไม่สะอาด” เธอกล่าว

ฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้คนเหล่านี้ลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

บางคนตัวเปียกโชกเพราะฝนรั่วเข้ามาในเต็นท์ บางคนถึงกับต้องขุดหลุมและลงไปอยู่ในหลุมกันเลยทีเดียว” เธอกล่าว

สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในพื้นที่นั้น ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา บอกเรดิโอฟรีเอเชียว่า กำลังให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อยู่

เรามีกลุ่มคนที่คอยให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้อยู่ เราพยายามจัดหาอาหารและที่พักพิงฉุกเฉินให้แก่คนเหล่านี้” ปาเดา ซอ ทอนี เจ้าหน้าที่การต่างประเทศของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งดูแลดินแดนที่อยู่ในความควบคุมของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง บอกเรดิโอฟรีเอเชีย

เรามีค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวอย่างน้อยสี่หรือห้าแห่งที่เราคอยจัดหาอาหารให้ และคอยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนั้น เรายังให้ความคุ้มครองแก่คนเหล่านี้ด้วย ตราบใดที่เรายังไม่สามารถหาที่ที่ปลอดภัยให้คนเหล่านี้อยู่ได้ เราจะต้องต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ต่อไป” เขากล่าว

ผู้ลี้ภัยหลายคนบอกว่า การสู้รบกันไม่เพียงทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และการทำมาหากินของพวกเขาเท่านั้น แต่ทหารยังขโมยข้าวของที่พวกเขาทิ้งไว้ที่บ้านด้วย 

แม้เมื่อสถานการณ์ปลอดภัยพอที่จะกลับไปบ้านได้ แต่บางคนบอกว่าการกลับไปเริ่มต้นใหม่จะเป็นเรื่องยาก

เรดิโอฟรีเอเชียได้พยายามติดต่อขอความคิดเห็นจาก พล.ต. ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

นายอำเภอแม่สอด ที่ชายแดนฝั่งไทย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลุ่มนี้ เมื่อวันอังคาร เรดิโอฟรีเอเชียได้ติดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และกระทรวงการต่างประเทศของไทย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ศูนย์ชายแดนจังหวัดตากไม่มีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง