ผู้ลี้ภัยเมียนมาเผชิญความไม่แน่นอน หลังสหรัฐฯ ระงับโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่

เรดิโอฟรีเอเชีย เมียนมา
2025.02.12
ค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่
ผู้ลี้ภัยเมียนมาเผชิญความไม่แน่นอน หลังสหรัฐฯ ระงับโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ ยิน ยิน เอ วัย 50 ปี ลูกสาวของ เปคะเลา วัย 71 ปี ชาวกะเหรี่ยงที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลังจากโรงพยาบาลในค่ายถูกปิดลง เนื่องจากความช่วยเหลือจากต่างประเทศของสหรัฐฯ หยุดชะงัก ขณะอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่ ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา ภาพวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568
ชาคีล/เอพี

ซอ บา อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย-เมียนมา มาเป็นเวลา 16 ปี เมื่อเดือนที่แล้วเขาได้รับข่าวที่เขาเฝ้ารอคอยมาหลายปี คือเขาและครอบครัวจะขึ้นเครื่องบินไปตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐอเมริกา

มันเป็นการรอคอยอันยาวนานมากสำหรับ ซอ บา ที่ปัจจุบันเขาอายุ 40 ปี ซึ่งชื่อที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้เป็นนามสมมุติด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เขาได้ยื่นคำร้องขอตั้งรกรากใหม่ไม่นานหลังจากที่เดินทางมาถึงค่ายในปี 2551

เขาตั้งตารออย่างมีความหวัง โดยเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) ได้นำครอบครัวของเขา และครอบครัวอื่น ๆ ร่วม 22 คน จากค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่ไปที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองแม่สอดซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนของไทยเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา

พวกเขาต้องรอที่นั่นเพื่อขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เพื่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา

อิสรภาพและชีวิตใหม่กำลังรออยู่ แต่สามวันต่อมา เจ้าหน้าที่จาก IOM ได้แจ้งข่าวร้ายให้พวกเขาทราบ นั่นคือ ผู้ลี้ภัยทั้ง 26 คน จะต้องกลับเข้าค่ายผู้ลี้ภัย เหตุเพราะรัฐบาลชุดใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์กำลังจะออกสั่งระงับกระบวนการและการเดินทางของผู้ลี้ภัยทั้งหมดเข้าสู่สหรัฐฯ

TH-2.jpg

ป้ายที่ถูกติดไว้บนบอร์ดภายในอาคารแจกอาหาร ในค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่ ที่ชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 (ชาคีล/เอพี)

ไม่กี่วันต่อมา หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งของประธานาธิบดี หรือที่เรียกว่าคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อระงับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อ “ยุติการรุกรานอเมริกาของผู้อพยพโดยทันที”

คำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าวระบุว่าสหรัฐฯ “ไม่มีความสามารถในการรองรับผู้อพยพจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่กระทบต่อทรัพยากรที่มีสำหรับชาวอเมริกัน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของพวกเขา และการทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม” 

ซอ บา รู้สึกสิ้นหวังเมื่อกลับมาถึงกระท่อมอันผุพังและทรุดโทรมของครอบครัวเขาที่ตั้งอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย

"ตอนนี้เราหมดหวังแล้ว" เขากล่าว

ถูกทิ้งในความไม่แน่นอน

ครอบครัวของซอ บา อยู่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยหลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันคนทั่วโลกที่ถูกระงับการเดินทางก่อนจะเดินทางเข้าสหรัฐฯ

ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 10,000 คน ที่ผ่านการคัดกรองแล้วและมีกำหนดการเดินทางไปยังสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 20 มกราคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ลี้ภัยกี่คนที่ได้เดินทางเข้าสหรัฐฯ ก่อนวันดังกล่าว

ที่ค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่ ผู้ลี้ภัยประมาณ 400 คน กำลังรอการย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ แต่ตอนนี้พวกเขาคงต้องรอคอยไปอีกนาน

Umpiem-refugee-camp-Thai-Myanmar-border-1.jpeg

ค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่ ที่ชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 (ชาคีล/เอพี)

ซอ บา และครอบครัวมั่นใจอย่างมากว่าพวกเขาจะได้ไปตั้งรกรากใหม่ จนถึงขั้นยกข้าวของทั้งหมด รวมทั้งเสื้อผ้า ให้กับเพื่อนบ้านและคนรู้จัก ในขณะที่ลูก ๆ ของพวกเขาก็ลาออกจากโรงเรียนและคืนหนังสือไปแล้ว

“เมื่อเรากลับมาที่นี่ (ที่อุ้มเปี้ยม) เราต้องเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากมากมาย” โดยเฉพาะปัญหาด้านการศึกษาของลูก ๆ ของพวกเขา เขากล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเมียนมา ซึ่งเป็นบริการข่าวออนไลน์ร่วมเครือของเบนาร์นิวส์

“ลูก ๆ ของเราไม่ได้ไปโรงเรียนมาหนึ่งเดือนแล้ว ตอนนี้พวกเขากลับมาแล้วอีกครั้ง และการสอบปลายภาคของพวกเขาก็ใกล้เข้ามาแล้ว” เขากล่าว “ลูก ๆ ของเราไม่มีหนังสือเรียนอีกต่อไปเมื่อพวกเขากลับไปเรียน ผมไม่รู้ว่าพวกเขาจะสอบผ่านหรือสอบตกในปีนี้”

งานเผยแผ่ศาสนา

ซอ บา หลบหนีไปยังค่ายผู้ลี้ภัยเนื่องจากเขาถูกหมายหัวจากการทำงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของเขา

เดิมทีเขามาจากเมืองปะเต็ง ในภูมิภาคอิรวดี ทางตะวันตกของเมียนมา โดยได้มีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลทหารมาหาเขาในปี 2552 และบอกให้เขายุติกิจกรรมการเผยแพร่ศาสนา

เมื่อเขาแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง รัฐบาลทหารจึงส่งตำรวจเข้าไปจับกุมเขา

เขาหลบหนีมาประเทศไทย และมาอยู่ที่ค่ายอุ้มเปี้ยมใหม่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยที่นั่น เขาได้พบกับภรรยาและมีลูกชายและลูกสาวด้วยกัน ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 2 ตามลำดับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลื่นผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา เป็นบททดสอบนโยบายแรงงานอพยพของไทย

รัฐบาลเมียนมาปิดเส้นทางขนส่งน้ำมัน เข้าแหล่งสแกมเซ็นเตอร์ทางชายแดนเมียวดี

ทำไมลูกแรงงานข้ามชาติต้องได้เรียนหนังสือ


ผู้ลี้ภัยหญิงอีกคนในค่ายชื่อ ทิน มิน โซ กล่าวว่า สามีและลูกสองคนของพวกเขาได้เข้ารับการตรวจร่างกายหลายครั้งและได้รับจดหมายตอบรับให้ย้ายไปรกรากใหม่ ซึ่งทำให้พวกเขามีชื่ออยู่ในบัญชีรอเรียกเพื่อเดินทางได้

เธอหนีออกจากบ้านในเขตพะโค ทางตอนกลางของเมียนมา เนื่องจากเข้าร่วมการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) ในปี 2550 ซึ่งกองทัพได้ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยพระภิกษุสงฆ์

ทิน มิน โซ และผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ในค่ายบอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า พวกเขากลัวที่จะกลับไปเมียนมาเนื่องจากถูกคุกคามข่มเหง โดยประเทศนี้ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองหลังจากที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564 ผู้อพยพหลายคนบอกว่า พวกเขาไม่มีบ้านหรือหมู่บ้านที่จะกลับไปอีกแล้ว แม้ว่าพวกเขาอยากจะกลับไปก็ตาม

เนื่องจากโครงการผู้ลี้ภัยของสหรัฐฯ ถูกระงับ “ตอนนี้เรากังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเรา เพราะเราต้องดูแลค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ของลูกทั้งสองคนของเรา” เธอกล่าว

เมื่อเรดิโอฟรีเอเชียติดต่อผู้จัดการค่ายและสำนักงานกิจการผู้ลี้ภัย พวกเขาตอบกลับโดยบอกว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

สหรัฐฯ ตั้งรกรากใหม่ให้ผู้ลี้ภัยแล้ว 3 ล้านคน

ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้จัดสรรให้ผู้ลี้ภัยได้ตั้งรกรากใหม่มากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งผู้คนเหล่านี้ลี้ภัยมาเพราะเกรงกลัวต่อการถูกข่มเหงรังแกเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ การเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ขัดแย้งกับรัฐบาล

ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้จัดสรรผู้ลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ จำนวน 100,034 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มาจากสาธารณรัฐคองโก รองลงมาคืออัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา และซีเรีย ส่วนเมียนมาจัดอยู่ในอันดับที่ 5 คิดเป็น 7.3% ตามข้อมูลของศูนย์การศึกษาด้านการอพยพ (Center for Immigration Studies)

ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เมียนมาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยตั้งรกรากในสหรัฐฯ มากที่สุด ประมาณ 76,000 คน ตามมาด้วย แคนาดาและออสเตรเลีย ตามรายงานของ สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนสิ้นสุดวาระของอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน สหรัฐฯ ได้รับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจากประเทศไทยหลายร้อยคน

Umpiem-refugee-camp-Thai-Myanmar-border-2.jpeg

ทางเข้าค่ายผู้ลี้ภัยโอนพยาน ใกล้พื้นที่แม่สอด ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ (เรดิโอฟรีเอเชีย)

เมื่อเรดิโอฟรีเอเชียขอความคิดเห็นจาก IOM และสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย แต่พวกเขายังไม่ได้ตอบกลับ ขณะเดียวกันเรดิโอฟรีเอเชีย กำลังติดต่อ องค์กรเดอะบอร์เดอร์คอนซอร์เทียม (The Border Consortium -TBC) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ให้ความช่วยเหลือด้าน อาหาร ที่พัก และการสนับสนุนอื่น ๆ แก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาประมาณ 120,000 คน ที่อาศัยอยู่ใน 9 ค่ายผู้ลี้ภัย ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรายหนึ่งในพื้นที่ ให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวกลับไปยังค่ายอุ้มเปี้ยมใหม่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับชีวิตในค่ายอีกครั้ง

“เมื่อพวกเขากลับมา พวกเขาจะประสบปัญหาในการหาอาหารและที่พัก” เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือรายนี้กล่าว พร้อมระบุว่า “พวกเขาได้มอบข้าวของให้ญาติไปหมดแล้ว และบางส่วนก็ถูกขายไปแล้วด้วย”

บริการทางการแพทย์ของไทย

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ไทยกำลังดำเนินการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ หลังจากที่บริการด้านสุขภาพได้รับผลกระทบจากการระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกภายใต้คำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยเช่นกัน

การระงับความช่วยเหลือนี้ส่งผลให้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่จากค่ายผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาทั้ง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับ หน่วยงานของไทยและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

ที่ประชุมมีมติให้ค่ายผู้ลี้ภัย ยังคงใช้คลินิกและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขององค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหรัฐฯ อย่าง องค์การอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี (International Rescue Committee - IRC) ในการรักษาผู้ลี้ภัยในค่าย ตามรายงานของ ซอ พเว เซ เลขาธิการคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

“ผมรู้สึกโล่งใจ เมื่อพวกเขาบอกว่า IRC อนุมัติให้ค่ายสามารถใช้คลินิกและอุปกรณ์ของพวกเขาต่อไปได้เพื่อการรักษาพยาบาล” เขากล่าว

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บุคลากรทางการแพทย์ของไทยจะให้บริการดูแลสุขภาพในช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ของค่ายผู้ลี้ภัยจะดูแลในช่วงกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์

นอกจากนี้ การระงับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เช่น คลินิกแม่ตาว ซึ่งให้บริการทางการแพทย์ฟรีแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการให้ความรู้ด้านสุขภาพและบริการสังคม เจ้าหน้าที่เปิดเผยกับเรดิโอฟรีเอเชีย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง