รพ.ไทยรักษาคนเจ็บหลายสิบราย จากแนวรบชายแดนรัฐกะเหรี่ยง
2024.04.22
กรุงเทพ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในวันจันทร์นี้ ภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบชาวเมียนมา และเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ว่า ในช่วง 2-3 วัน สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับบริการและยังพักรักษาตัว 82 คน ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากเหตุปะทะเป็นหลัก ผ่าตัดแล้ว 29 คน รอผ่าตัดอีก 3 คน
ในวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์วิกฤติความไม่สงบในเมียนมา โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ นั่งประธานกรรมการ
“เรารักษาพวกเขาตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด” นพ. ชลน่าน กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่โรงพยาบาลแม่สอด อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกขอให้อธิบายจำนวนกองกำลังทหาร และพลเรือน นพ. ชลน่าน ได้ปฏิเสธอย่างรวดเร็วพร้อมระบุว่า “เราไม่เลือกปฏิบัติว่าพวกเขาเป็นใคร แต่หลังการรักษา ชาวต่างชาติจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง”
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ในพื้นที่ จ.ตาก สะสม 113 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ในนั้นมากที่สุดเป็น ผู้ป่วยในพื้นที่ อ.แม่สอด 89 ราย รองลงมาเป็นพื้นที่ อ.อุ้มผาง 13 ราย ที่เหลืออยู่ในพื้นที่อื่น
โดยหลังกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และพันธมิตรเปิดฉากโจมตีกองพันทหารราบที่ 275 ของรัฐบาลทหาร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ติดอยู่ในบริเวณศุลกากรบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ทำให้การต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันเสาร์ จากข้อมูลทหารไทยและชาวบ้านในพื้นที่
เศรษฐา ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจรับมือความไม่สงบในเมียนมา
นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ลงนามในคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติในวันจันทร์นี้ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ นั่งประธานกรรมการ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ นั่งรองประธาน
“ปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยในหลายมิติทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การสู้รบตามแนวชายแดน และการค้าชายแดนหยุดชะงัก" ส่วนหนึ่งของคำสั่งฯ ระบุ
"เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางการทูตความมั่นคง เศรษฐกิจ และการสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงการบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม”
คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจหลัก ๆ คือติดตาม ตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งในมิติการต่างประเทศ มิติการค้าและเศรษฐกิจชายแดน มิติความมั่นคง รวมทั้ง บทบาทและท่าทีของต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กลั่นกรอง ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการบูรณาการปัญหาในแนวชายแดนไทย-เมียนมา
กรรมการชุดดังกล่าว จะมีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เป็นกรรมการ ขณะที่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
การสู้รบยังดำเนินต่อ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก
ล่าสุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีไว้ได้ ทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยสงคราม และหลายฝ่ายประเมินกันว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง
ด้าน นายชยพล สท้อนดี โฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบดังกล่าว ว่า กมธ.การทหาร ให้ความสำคัญในเรื่องการช่วยเหลือ ปกป้องคนไทยที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการสู้รบ และที่พักอาศัยบริเวณชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเศษชิ้นส่วนอาวุธ กระสุน และสะเก็ดระเบิดลูกหลง ที่กองทัพจะต้องมีความพร้อมเฝ้าระวังรับมือ และประกาศเตือน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ
“ช่วงนี้อาจจะต้องมีการติดตามสถานการณ์ความคืบหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประสานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมารายงานต่อที่ประชุม และอาจจะต้องมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงสถานการณ์ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน รวมถึงการช่วยเหลือคนไทยที่พักอาศัยใกล้กับพื้นที่สู้รบในที่ประชุม กมธ.ฯ เป็นระยะ” นายชยพล ระบุ
ก่อนหน้านี้มีสถานการณ์ตึงเครียด ปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยได้เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ โดยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ สำหรับประชาชนเมียนมาประมาณ 20,000 คน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง