สภาผ่านงบ ปี 68 วาระสาม 3.75 ล้านล้านบาท
2024.09.05
กรุงเทพฯ
สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ 309 ต่อ 155 เสียง ผ่าน ร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มูลค่า 3.75 ล้านล้านบาท แม้ สส. ฝ่ายค้านรุมซักฟอกหนักหน่วง ปรับลดจากวาระที่หนึ่งเพียง ปรับลดเพียง 7.82 พันล้านบาทเท่านั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนรัฐบาลว่า ขอขอบคุณ สส. ทุกคนที่ให้ความเห็นชอบต่อ ร่าง พรบ. งบประมาณฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 155 เสียง, งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 จากจำนวนผู้ลงมติ 469 คน
“งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะใช้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของชาติ และแผนพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาอภิปราย พรบ. งบประมาณฯ วาระ 2 และ 3 ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการลงมติในเวลา 21.48 น. ของวันพฤหัสบดี
“สำหรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอรวมทั้งสามวัน ความห่วงใยที่ท่านสมาชิกได้เสนอแนะไว้ตลอดระยะเวลาการประชุม รัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์จากงบประมาณซึ่งมาจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน และจะใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติม
ร่าง พรบ. งบประมาณฯ ฉบับดังกล่าว ถือว่าผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต่อจากนี้จะถูกส่งไปยังสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป โดยจะมีการพิจารณา ในวันที่ 9 และ 10 กันยายน 2567
สำหรับ พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมิถุนายน 2567 โดย กระทรวงที่จัดสรรงบมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง 390,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63,294 ล้านบาท คิดเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้น 19.31% รองลงมาคือ ศึกษาธิการ 340,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,413 ล้านบาท (3.72% เพิ่มขึ้น) และกลาโหม 200,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,179 ล้านบาท (1% เพิ่มขึ้น)
นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 กล่าวกับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตัดงบประมาณที่ตั้งไว้จาก 3.75 ล้านล้านบาท เหลือ 3.56 ล้านล้านบาท เพื่อลดการกู้ของรัฐบาล และลดหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาตลอด
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจัดงบประมาณขาดดุล แล้วก็กู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ภาระหนี้สินในรูปของหนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ยับยั้งหรือบริหารจัดการแก้ปัญหาเสียตั้งแต่ต้นมือ สิ่งที่เป็นภาระทางการคลังก็จะกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลัง และสุดท้ายนำไปสู่วิกฤตการคลังได้ในที่สุด” นายวีระ กล่าว
นายวีระ ระบุว่า สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะถึง 11.54 ล้านล้านบาท ซึ่งหากงบประมาณปี 2568 ยังขาดดุลอีก 865,000 ล้านบาท จะทำให้มีหนี้สาธารณะมากกว่า 12 ล้านล้านบาท
ใน ร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 805,745 ล้านบาท ที่จะถูกใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายหาเสียงหลักของเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล
น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ชี้ว่า รัฐบาลควรชะลอการใช้จ่ายงบที่เกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการใช้งบประมาณของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และหากมีความจำเป็นให้เปลี่ยนเป็นการโอนงบประมาณ
“สภาไม่จำเป็นต้องเห็นชอบเงินเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่ และเงินที่จะใช้ก็ยังมีไม่เพียงพอ ฉะนั้น จึงมีข้อเสนอว่าควรรอให้มีการแถลงนโยบายให้จบก่อน แล้วค่อยมาออกเป็น พรบ. โอนงบประมาณก็ยังทัน เพราะยังมีเวลาให้ประชาชนรอมาได้ปีกว่า ให้รออีกหน่อย” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ครม. ชุดใหม่ที่นำโดย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร จะเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องผ่าน ร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 เพื่อใช้ประโยชน์
“จนถึงวันนี้ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อ สำหรับเม็ดเงินของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่อนุมัติไปแล้วในส่วนของงบฯ 2567 ทั้งงบฯ เพิ่มเติมและงบกลาง สุดท้ายจะได้ใช้ประโยชน์และผ่านถึงมือประชาชนทั้งจำนวนต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าวต่อที่ประชุม
ขณะเดียวกัน นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส. เชียงใหม่ พรรคประชาชน เสนอให้ตัดงบประมาณเกี่ยวกับ โครงการซอฟต์พาวเวอร์ในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงวัฒนธรรม และอื่น ๆ มูลค่ากว่า 2.4 พันล้านบาท เนื่องจากเห็นว่ามีโครงการที่ซ้ำซ้อน และไม่เกิดประโยชน์ต่อโครงการจริง ๆ
“สิ่งที่เสนอเราปรับลดไป ไม่ได้กระทบกับแก่นสารโครงการแน่นอน เราให้เหตุผลว่างบซ้ำซ้อน หน่วยงานต่างหน่วยงานทำโครงการลักษณะเดียวกันโดยไม่ได้คุยกัน และการประชาสัมพันธ์ แถลงข่าวต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกของโครงการหลัก" นายณัฐพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการอภิปรายคัดค้าน และขอให้ตัดงบประมาณที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่จำเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุด ร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 ถูกปรับลดลงจากที่ถูกเสนอในวาระแรกเพียง 7,824,398,500 บาท
ด้าน ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ว่า ร่าง พรบ. งบประมาณฯ ของไทยยังมีลักษณะที่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อว่า โครงการต่าง ๆ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก
“การใช้จ่ายงบประมาณจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร เพราะการใช้งบประมาณยังตั้งอยู่บนวิธีคิดแบบเดิมมรรคผลในการใช้ประโยชน์สูงสุด มันจะยังไม่เห็นเพราะมันมาจากวิธีคิดแบบเดิม ใช้จ่ายแบบเดิม บริหารแบบเดิม ผลออกมาก็แบบเดิม” ดร. โอฬาร กล่าว
ทั้งนี้ ในร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.78 พันล้านบาท และงบประมาณขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิบหัวข้อในหมวดงบรายจ่ายบูรณาการมูลค่า 2.06 แสนล้านบาทด้วย
รัฐบาลระบุว่า มีเป้าหมายจะลดการสูญเสีย และความรุนแรง 80 % โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”
“หลายปีที่ผ่านมา การเสนอ พรบ. งบประมาณฯ มันมาจากหน่วยราชการที่ทำแผนโครงการไม่ตรงกับภารกิจของตัวเอง หลายกระทรวงใช้งบซ้ำซ้อน ไม่บูรณาการ และไม่พิจารณาว่างบประมาณดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของตัวเองหรือไม่ การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ก็ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่กลับไม่เห็นสันติภาพอย่างที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ” ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน