นายกฯ สั่งกลาโหมตรวจสอบ เฟซบุ๊กกล่าวหาทหารทำไอโอ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.03.04
กรุงเทพฯ
นายกฯ สั่งกลาโหมตรวจสอบ เฟซบุ๊กกล่าวหาทหารทำไอโอ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพ (ในขณะนั้น) บรรยายเรื่อง "สงครามลูกผสม” ว่าวิธีผสมผสาน การแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียลักษณะนี้ ทำลายชาติได้อย่างไร ที่กองบัญชาการกองทัพบก ในกรุงเทพฯ วันที่ 11 ต.ค. 2562
เอพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ทางกระทรวงกลาโหมตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อกรณีที่เฟซบุ๊กได้ลบบัญชีผู้ใช้ เพจ กลุ่มบนเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ที่มีความโยงใยกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงประเด็นดังกล่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว

“ให้กระทรวงกลาโหมไปดูแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของที่มีการพูดกันในสภานั่นแหละนะ ก็ไปดูซิว่ามันยังไง หลายอย่าง คือเป็นประเด็นทางการเมืองไปด้วย คราวนี้ผมก็ถามวันนี้ เฟซบุ๊กมันมีหลายทางด้วยกัน ท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว ก็เดี๋ยวทำให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น เคลียร์คัท ชัดเจนเกิดขึ้น ผมสั่งกลาโหมให้ดูแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อวานนี้ เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ได้ทำการลบผู้ใช้ 77 บัญชี 72 เพจ 18 กลุ่มบนเฟซบุ๊ก และ 18 บัญชีอินสตาแกรม ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย เพราะมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ

ในช่วงดึกวันพุธตามเวลาประเทศไทย เฟซบุ๊กได้เผยแพร่รายงานการตรวจพบพฤติกรรมผิดปกติของบัญชีผู้ใช้ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า เฟซบุ๊กทำการลบบัญชีเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ในประเทศไทย อิหร่าน โมร็อกโก และรัสเซีย บางส่วนซึ่งตรวจพบว่ามีพฤติกรรมผิดปกติ

“บุคคลที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายใช้ทั้ง บัญชีจริง และบัญชีปลอม บริหารกลุ่ม และเพจ ซึ่งเชื่อมโยงกับกองทัพตรง ๆ และเชื่อมโยงกับกองทัพอย่างลับ ๆ ซึ่งพวกเขาได้เขียนข้อมูลในหลายเพจ เพื่อให้เกิดการเห็นในวงกว้าง บัญชีปลอมบางบัญชีเขียนข้อความจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายบัญชีใช้รูปจากอินเทอร์เน็ต เพจส่วนใหญ่มักถูกก่อตั้งในปี 2563” รายงานของเฟซบุ๊ก ระบุ

“เครือข่ายนี้ ส่วนใหญ่โพสต์เกี่ยวกับข่าวหรือกิจกรรมที่สนับสนุนกองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเขียนเกี่ยวกับการต่อต้านความรุนแรง, สถานการณ์โควิด-19, กล่าวหากลุ่มผู้เห็นต่างรัฐว่า สร้างความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, วิจารณ์กลุ่มแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง การตรวจสอบพบว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)” รายงานดังกล่าว ระบุ

รายงานชิ้นนี้ ให้ข้อมูลว่าใน 77 บัญชี, 72 แฟนเพจ, 18 กลุ่ม และ 18 บัญชีอินสตาแกรม มีผู้ติดตาม 703,000 ที่ติดตามบางเพจ หรือเพจอื่น ๆ บางกลุ่มมีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 บัญชี บางบัญชีอินสตาแกรม มีผู้ติดตามประมาณ 2,500 คน แต่ละเพจจ่ายเงินประมาณ 350 ดอลลาร์ สำหรับซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โดยระบุตัวอย่างเพจที่เฟซบุ๊กตรวจพบพฤติกรรมน่าสงสัย และดำเนินการปิดไปแล้ว เช่น ทันข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, รู้ทันขบวนการ และ “ความจริงปัตตานีบ้านฉัน”

พรรคฝ่ายค้าน-กลุ่มนักสิทธิฯ เผยกองทัพใช้ “ไอโอ” โจมตีคนเห็นต่าง

หลังจากที่ประเทศไทยมีความขัดแย้ง ทั้งทางด้านการเมือง และเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า “ปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร” (Information operation - IO) หรือ ไอโอ กลายเป็นคำพูดติดปากในระหว่างคู่ขัดแย้ง

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า เอกสารงบประมาณของ กอ.รมน. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ที่ถูกเปิดเผยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นเอกสารจริง อย่างไรก็ตาม กอ.รมน. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง มิได้ต้องการจะบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด โดย ส.ส. พรรคก้าวไกล เคยเปิดเผยข้อมูลว่า กองทัพพยายามใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อโจมตีผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมีการอภิปรายในรัฐสภา 2 ครั้ง

จากนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ทวิตเตอร์ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านบล็อกของทวิตเตอร์ ระบุว่า ทวิตเตอร์ได้ปิด 926 บัญชี ในประเทศไทย เนื่องจากพบความเชื่อมโยงกับกองทัพ

“การตรวจสอบของเราพบความเชื่อมโยงของบัญชี ซึ่งมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (Information operation - IO) และบัญชีเหล่านั้นเชื่อมโยงกับกองทัพบกไทย โดยเป็นบัญชีที่เขียนข้อมูลสนับสนุนการทำงานของกองทัพบก และรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”

ซึ่ง พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ได้ปฏิเสธข้อมูลที่ทวิตเตอร์นำเสนอ และยืนยันว่าข้อมูลนั้น ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก โดยเฉพาะงานที่สำคัญที่สุดของกองทัพบก ก็คือ การช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ

ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองพยายามนำเสนอปัญหานี้มานาน ทั้งยังเคยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข แต่ไม่เคยได้รับการดำเนินการ

“ผ่านมานักสิทธิมนุษยชนถูกเพจเหล่านี้โจมตี และทำให้เกิดความเกลียดชังคนทำงานสิทธิฯ มาตลอด... ใครวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภาคใต้ จะถูกเพจอวตารถล่มจนเสียหาย แม้จะแจ้งความ ปอท. ก็ไม่มีความคืบหน้า เรารายงานเรื่องนี้ทุกวัน โดนประจำเลย ส่วนตัวแจ้งความแต่การสอบสวนไม่ก้าวหน้า เลยใช้วิธีรายงานให้เฟซบุ๊กตรวจสอบ” นางอังคณา กล่าว

ด้าน น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations-IO) ว่า รัฐบาลควรใช้สื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม

“การเปิดเผยของเฟซบุ๊กเป็นข้อมูลยืนยันว่า กอ.รมน. ใช้เฟซบุ๊ก ใช้ไอโอโจมตีเอ็นจีโอจริง ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมที่ กอ.รมน. จะใช้ไอโอโจมตีองค์กรหรือบุคคล ควรใช้สำหรับการสื่อสารการทำงานของ กอ.รมน.จะดีกว่า เชื่อว่า ถ้าปิดบัญชีเฟซบุ๊กที่โจมตีผู้คน ก็น่าจะทำให้การสร้างความเข้าใจผิดไม่เกิดขึ้นได้” น.ส. อัญชนา กล่าว

ไอลอว์ ฟ้องศาลปกครองให้ กองทัพยุติ 'ไอโอ'

ในบ่ายวันพุธนี้ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย (iLaw) และนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ จอห์น พิธีกรรายการโทรทัศน์ พร้อมด้วยนายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ เดินทางเข้ายื่นฟ้องกองทัพบก และ พล.อ.ณรงค์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งยุติปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารอย่างไม่ถูกต้อง และให้กองทัพบกขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“หลักฐานชัดเจนว่า ข้อความที่เขานำเสนอมีการมุ่งโจมตีคนที่เห็นต่าง มีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลที่เป็นการพูดดี ๆ ไม่ได้มีข้อมูลอะไรที่เป็นสาระสำคัญ แต่ว่าจำนวนมากเป็นการใส่ร้ายด้วยคำหยาบคาย ไม่มีประโยชน์อะไร… เราเห็นว่า ปฏิบัติการที่กองทัพทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง ก็อยากให้หยุดปฏิบัติการก็เพียงพอ” นายยิ่งชีพ กล่าว

นายยิ่งชีพ ระบุว่า ในประเด็นเดียวกันนี้ ตนเองได้ยื่นหนังสือต่อผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย และบทสนทนาบนโลกออนไลน์ควรเป็นข้อเท็จจริงที่มาจากประชาชนจริง ๆ และได้ส่งข้อมูลให้เฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่ เพื่อสืบสวนการกระทำของกองทัพด้วยเช่นกัน

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง