นายกฯ ขออดใจรอทูลเกล้าฯ ครม. ใหม่สัปดาห์หน้า รอเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.30
กรุงเทพฯ
นายกฯ ขออดใจรอทูลเกล้าฯ ครม. ใหม่สัปดาห์หน้า รอเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงหลังรัฐสภามีมติรับรองให้เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 สิงหาคม 2567
ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่สมบูรณ์แล้ว รอเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เชื่อว่าจะสามารถทูลเกล้าฯ แต่งตั้งได้ภายในสัปดาห์หน้า นักวิชาการเชื่อ รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญศัตรูรอบด้านทั้งจากนักการเมืองด้วยกัน และประชาชนฝ่ายต่อต้านนายทักษิณ ชินวัตร 

“ค่อนข้างลงตัว นิ่งแล้ว เหลือแต่ตรวจสอบคุณสมบัติ ใกล้เข้ามาทุกที ภายในอาทิตย์นึง ใจเย็นนิดนึง ถ้าชื่อลงตัวเราทำเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ สัญญาว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน เรามาอยู่ตรงนี้แล้วเพื่อทำหน้าที่เพื่อประชาชน” น.ส. แพทองธาร กล่าวกับสื่อมวลชน ขณะลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย 

อย่างไรก็ตาม น.ส. แพทองธาร และแกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อ ครม. ชุดใหม่ แต่มีการยืนยันที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และจะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองแทน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนักคาดการณ์หน้าตาของ ครม. น.ส. แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊งค์ 1 ไปในทิศทางเดียวกันคือ รายชื่อส่วนใหญ่ยังคล้ายกับรัฐบาลก่อนหน้า มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามาแทนที่พลังประชารัฐ 

สื่อหลายสำนักยังเชื่อว่า สำหรับโควตาเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายพิชัย ชุณหวชิร จะยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ 

เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญเช่น กระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข จะยังอยู่กับเพื่อไทย ภูมิใจไทยจะยังดูแลกระทรวงมหาดไทย และศึกษาธิการ ขณะที่ กระทรวงพลังงาน และอุตสาหกรรมจะเป็นความรับผิดชอบของรวมไทยสร้างชาติ 

2024-08-18T023117Z_397754485_RC2ZH9AGY2TH_RTRMADP_3_THAILAND-POLITICS.JPG
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เดินทางมาพร้อมกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ ก่อนเข้าพิธีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (ภานุมาศ สงวนวงษ์/รอยเตอร์)

“รัฐบาลที่ดีที่จะช่วยเหลือประชาชนได้คือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้นเสถียรภาพสำคัญ การที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เชิญพรรคพลังประชารัฐมาร่วมในแกนนำ เพราะฉะนั้นการที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะต้องมีเสียงมากพอ เพราะถ้าเสียงเกินกึ่งนึงไม่มาก มันจะทำให้การแก้กฎหมายเพื่อผลักดันช่วยเหลือประชาชนสะดุดได้ วันนี้ ฝ่ายบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เหมือนกับทศวรรษที่ผ่านมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน พรรคประชาธิปัตย์มีกระแสว่าจะเสนอ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง จะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโควต้าของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งแม้จะยังมีสถานะเป็น สส. พลังประชารัฐ แต่ก็ได้ประกาศเป็นอิสระจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ พรรคพลังประชารัฐขู่จะดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี

ลบปมอดีต จับมือปชป.

“นายกฯ เคยแสดงออกต่อสาธารณะว่าจะให้พรรคพลังประชารัฐลงมติเห็นชอบให้ตัวเป็นนายกฯ แล้วจะให้พรรคพลังประชารัฐมีที่นั่งในคณะรัฐมนตรีตามสัดส่วนเดิม การที่ให้คำมั่นสัญญาครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่น วิญญูชนโดยทั่วไปก็จะว่าได้ว่านายกฯ ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่” นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่เปิดเผยชื่อ ครม. ชุดใหม่อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน การประกาศจับมือกันของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนหนึ่ง เนื่องจากในอดีต รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เคยสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน 

และในปี 2556 สส. ประชาธิปัตย์ ยังจัดการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปสู่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นวิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

“การดึงพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ กปปส. เข้าร่วม มันคือการทำให้ศัตรูทางการเมืองของคุณทักษิณยอมต่อคุณทักษิณ และในระยะยาวคนเหล่านี้ก็จะหมดความน่าเชื่อถือทางการเมือง เชื่อว่าเป้าหมายคุณทักษิณอันหนึ่งคือทำให้คนเห็นว่า กปปส. คือขบวนการต้มตุ๋นประชาชนครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่” ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้ น.ส. แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสองวันก่อนหน้านั้น โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ น.ส. แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 319 เสียง โดยมี สส. พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ รวมเห็นชอบด้วย

หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ภารกิจสำคัญแรกของ น.ส. แพทองธาร คือการจัดตั้ง ครม. ซึ่งจะมีผู้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 35 คนไม่รวมนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. โอฬาร เชื่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีศัตรูมากขึ้น

AP251187496056.jpg
ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. โห่ร้องแสดงความยินดีภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ระหว่างการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ วันที่ 14 มกราคม 2557 (เอพี)

“ครม. อุ๊งอิ๊งค์จะเผชิญศัตรูทางการเมืองเป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจคุณทักษิณ พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เคยกระจัดกระจายกัน แต่มีเป้าหมายร่วมกันคือ ไม่เอาระบอบทักษิณใหม่ จะไปรวมตัวกันที่บ้านป่ารอยต่อโดยพลเอกประวิตรเป็นศูนย์กลางอำนาจ ถ้าคู่ขัดแย้งวางกลยุทธ์ดี ๆ แล้วองค์กรอิสระที่เป็นเครือข่ายคุณประวิตรรับลูก ชะตากรรมของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ก็น่ากังวลใจ” ผศ.ดร. โอฬาร ระบุ

คลื่นลมการเมืองตั้งเค้า

สำหรับอุปสรรคทางคดีที่ นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยต้องเผชิญ ยังมีกรณีที่มีผู้ไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ตรวจสอบว่า น.ส. แพทองธาร โอนหุ้นบริษัทเอกชนในการครอบครองของตัวเองออกไปทั้งหมดก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือไม่ และการร้องให้ กกต. ตรวจสอบว่า นายทักษิณ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของนายกรัฐมนตรี พยายามครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ 

ต่อกระแสต่อต้านรัฐบาลใหม่ น.ส. ไอโกะ ฮามาซากิ นักเขียนอายุ 32 ปี เปิดเผยว่า คาดหวังมากว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้แม้จะยังมีเรื่องให้กังวล

“แพทองธาร คือ เสียงที่พูดแทนเรา ทั้งน้ำเสียง ทั้งภาษาที่เขาใช้พูดมันคือภาษาเดียวกันกับเรา แต่ก็รู้สึกกังวลเพราะรู้ว่ามีคนที่ไม่ชอบเขา สังคมนี้ยังมี Hate Speech และพร้อมโยนความเกลียดชังลงในสังคม ก็ได้แต่หวังว่านี่จะเป็นโอกาสที่สังคมได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่าง และความไม่ถูกใจจะไม่กลายเป็นสงคราม” น.ส. ไอโกะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ในอดีตรัฐบาลโดยการนำของตระกูลชินวัตรถูกต่อต้าน และถูกทำรัฐประหารมาแล้ว ทั้งการประท้วงขับไล่ นายทักษิณจากกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และการชุมนุมขับไล่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอาของ น.ส. แพทองธาร โดยกลุ่ม กปปส. ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 

“การรัฐประหารน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีโอกาสเสมอ แต่มีแรงต้านเยอะ การรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้น อาจจะเป็นรัฐประหารผ่านตุลาการ ซึ่งจะแนบเนียนกว่า และมันมีอำนาจพิเศษรองรับ ซึ่งเชื่อว่าจะดีกว่าการใช้กองทัพ” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว

นอกจาก การรัฐประหารโดยกองทัพแล้ว พรรคไทยรักไทย ปี 2550, พลังประชาชน ปี 2551 และไทยรักษาชาติ ปี 2562 ซึ่งเป็นกลุ่มอุดมการณ์การเมืองเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค และส่งผลให้ กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาหลายปี ขณะที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังถูกดำเนินคดีทุจริต จนทำให้ต้องลี้ภัยในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560 

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง