รัฐบาลไทยตั้งรองเลขา สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข

นายฉัตรชัย บางชวด เป็นข้าราชการพลเรือนคนแรกในรอบสิบปี ได้รับหน้าที่เจรจากับขบวนการฯ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ, มารียัม อัฮหมัด และมุซลิซา มุสตาฟา
2023.11.28
กรุงเทพฯ, ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์
รัฐบาลไทยตั้งรองเลขา สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข นายฉัตรชัย บางชวด (คนกลาง) รองหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (ในขณะนั้น) ยืนร่วมในคณะพูดคุย ขณะ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ รับจดหมายร้องเรียนให้เลิกกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้ จากนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

รัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวหัวหน้าเจรจาฝ่ายไทยจากอดีตนายทหารมาเป็นนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งราชการพลเรือนเป็นผู้นำการเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อหาทางยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลาสิบปี

เมื่อวานนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ นำโดยนายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย แทนพลเอก วัลลภ รักเสนาะ และแต่งตั้งชุดใหม่ มีสมาชิกประกอบด้วย เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ขณะที่ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จะเป็นสมาชิกในคณะพูดคุยและเลขานุการร่วม

ผู้สันทัดกรณี กล่าวว่า นายฉัตรชัย บางชวด เป็นข้าราชการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีความรู้และประสบการณ์กับชายแดนภาคใต้มานาน และอยู่ในคณะเจรจามาแล้วหลายคณะ รวมทั้งคณะที่นำโดยพลเอก วัลลภ รักเสนาะ

เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อนายฉัตรชัย เพื่อขอสัมภาษณ์ได้ในวันนี้ ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ตอบคำถามใด ๆ ของผู้สื่อข่าวในการแต่งตั้งครั้งนี้

ด้าน พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขของประเทศมาเลเซีย กล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ของไทย

“ผมคิดว่าท่านเป็นตัวเลือกเป็นหัวหน้าคณะเจรจาที่เหมาะสมที่สุด เพราะว่าท่านเคยเป็นรองหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในสมัยที่พลเอก วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าทีม ผมจะพบท่านในสัปดาห์หน้าเพื่อพูดคุยขั้นตอนต่อไป ถ้าไม่เป็นที่กรุงเทพฯ ก็เป็นกัวลาลัมเปอร์” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเบนาร์นิวส์ในมาเลเซีย และระบุว่า จะเป็นการพบปะกันของสองฝ่ายโดยยังไม่รวมฝ่ายบีอาร์เอ็น

เมื่อถามถึงปฏิกิริยาของฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีต่อการแต่งตั้งครั้งนี้ พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวว่า “มีการแต่งตั้งเมื่อวานนี้ ส่วนเราเพิ่งทราบข่าววันนี้ ขอเวลาหน่อย แต่ผมคิดว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการให้การเจรจาดำเนินต่อไป”

ด้านตัวแทนขบวนบีอาร์เอ็นที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียไม่ได้ตอบรับข้อความของผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเจรจากับกลุ่มขบวนการหลายกลุ่ม ในหลายวาระ เช่น องค์กรร่มมาราปาตานี (MARA Patani – Majis Syura Patani) ที่ประกอบด้วย กลุ่มบีไอพีพี (BIPP), กลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP), กลุ่มพูโล-เอ็มเคพี (PULO-MKP) และกลุ่มพูโล-ดีเอสพีพี (PULO-DSPP)

และล่าสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะของพลเอก วัภลภ ได้เจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นครั้งที่ 6 และยุติลงชั่วคราวหลังจากนั้น เพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นขอรอผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม หลังจากรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดวาระ

สองนายกฯ อันวาร์-เศรษฐาพบปะกัน

หลังจากที่นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เดินทางมาเพื่อพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันจันทร์ที่ด่านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย นายอันวาร์ กล่าวว่า เขาเชื่อว่านายกรัฐมนตรีไทยต้องการบรรลุข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผมเห็นว่านายกรัฐมนตรีไทยประสงค์ที่จะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราจะยังคงมีบทบาทต่อไปในฐานะผู้อำนวยความสะดวกที่นำโดย พล.อ. ซุลกิฟลี” นายอันวาร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการเยือนไทย

ด้าน ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระ ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ และอดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า การใช้พลเรือนเป็นแกนนำในชุดเจรจา น่าจะเป็นผลดีต่อกระบวนการพูดคุย

“การที่ใช้คุณฉัตรชัยซึ่งเป็นพลเรือน ก็จะทำให้ภาพลักษณ์เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่มักใช้ทหารเกษียณเป็นส่วนใหญ่ การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ของพลเรือนก็อาจส่งผลดี และอาจทำให้มีความคืบหน้าของการพูดคุยไปมากกว่าในอดีต” ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“แต่ก็จะมีข้อจำกัดในฐานะข้าราชการประจำ บางอย่างอาจจะละเอียดอ่อน ซึ่งถ้าไม่ได้ให้ตัดสินใจเรื่องระดับสูงจริง ๆ สำหรับข้อจำกัด ก็อาจจะมีเรื่องการตัดสินใจ การวางอาวุธ หรือข้อตกลงยุติความรุนแรง หรือเขตปลอดภัย ข้าราชการประจำอาจจะตัดสินใจตรงนั้นไม่ได้ ก็ต้องนำเรื่องกลับไปให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ” ดร. ปณิธาน ระบุ

ดร. ปณิธาน กล่าวอีกว่า นายฉัตรชัย เป็นผู้ที่ถือว่าคุ้นเคยกับเรื่องการเจรจา รู้จักตัวบุคคลพอสมควรเพราะอยู่ในการพูดคุยทุกครั้ง และถือว่าเชี่ยวชาญที่สุดแล้วถ้าไม่นับทหารในพื้นที่

ด้าน นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระในอำเภอหาดใหญ่ กล่าวว่า ตนเชื่อการเจรจาจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง

“มีหัวหน้าพูดคุยคนใหม่ ผมก็ยังเชื่อว่ายังไม่น่าจะทำให้การพูดคุยเปลี่ยนจากเดิม ควรจัดทีมคณะพูดคุยฝั่งไทยที่พร้อมกว่าเดิม ควรใช้ตัวจริงเข้าไปร่วมคณะ ประกอบกับงานการข่าวต้องถูกต้องเชื่อถือได้ ด้วยความที่มีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ก็ต้องมีทหารผสมกันไป เพราะบีอาร์เอ็นเองเขาก็มีฝ่ายทหารอยู่ด้วยเหมือนกัน” นายประสิทธิ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ส่วนเยาวชนแนวร่วมบีอาร์เอ็นรายหนึ่ง กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ว่า รัฐบาลไทยต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

“ก็ดี ขอให้จริงใจ การพูดคุยที่ผ่านมา เพราะไทยไม่จริงใจมันจึงมีปัญหา อยากให้จบที่รุ่นนี้ ไม่ต้องส่งต่อไปที่รุ่นลูกหลานของพวกเราอีก” เยาวชนคนดังกล่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง