24 องค์กรสิทธิฯ ร้องทูตต่างชาติกดดันรัฐบาลยุติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อนักกิจกรรม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2022.11.09
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
24 องค์กรสิทธิฯ ร้องทูตต่างชาติกดดันรัฐบาลยุติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อนักกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ร่วมประท้วง ในระหว่างงานรำลึกถึงนายวริศ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ที่ได้เสียชีวิตลงสองเดือนต่อมา หลังจากถูกยิงระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นอกสถานีตำรวจ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564
แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี

องค์กรสิทธิมนุษยชน 24 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ช่วยเรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ต่อนักกิจกรรม เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีถึง 1,468 คน ใน 661 คดี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิวแมนไรท์วอทช์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรอื่นรวม 24 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูต เพื่อแสดงความกังวลว่า ไทยยังคงมีการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ กับนักกิจกรรมทางการเมือง แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ไปแล้ว

“เราขอให้ท่านเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกดดัน คุกคาม และการดำเนินคดีบุคคลเพียงเพราะพวกเขาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในข้อมูล ในการชุมนุมโดยสงบ ในการเคลื่อนไหว และในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบทางปกครองโดยมิชอบ อีกทั้งถอนฟ้อง มีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลต่าง ๆ รวมถึงบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบแต่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทันที” จดหมายดังกล่าว ระบุ

พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และขยายประกาศดังกล่าว 19 ครั้ง ครอบคลุมระยะเวลากว่า 2 ปี ซึ่งศูนย์ทนายฯ พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 1,468 คน ใน 661 คดี และในจำนวนนั้นเป็นเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี 241 คน ใน 157 คดี

ใน 661 คดี มีคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย 23 คดี ศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด 28 คดี และพิพากษาว่ามีความผิด 8 คดี รวมมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 87 คดี แต่ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาคดีถึง 574 คดี หรือ 86 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังต้องดำเนินต่อไป แม้สถานการณ์โควิดที่เป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามารถควบคุมได้แล้ว และได้มีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม พวกเราเห็นว่ารัฐบาลไทยควรถอนฟ้อง มีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่ม ด้วยเหตุผล มาตรการบางมาตรการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ถูกดำเนินคดีใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่กระบวนการยุติธรรม” จดหมาย ระบุ

น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เคยกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การถูกดำเนินคดีการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองอย่างมาก และหลายครั้งรู้สึกถึงความไม่สมเหตุสมผล

“ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 15 ตุลา 63 ถูกคดีแบบงง ๆ เคยถูก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปรอรับพี่แอมมี่ (ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์-นักกิจกรรม) ออกจากเรือนจำ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งเฉย ๆ เงียบ ๆ เหมือนช่วงนี้ศาลจะพยายามเร่งคดีของเราด้วย ทำให้ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการขึ้นโรงพักคุยกับอัยการ แล้วก็ขึ้นศาล” น.ส. ชลธิชา กล่าว

ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การใช้กฎหมายเพื่อจัดการผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองของรัฐบาลไทย มีความน่าเป็นห่วง

“ตอนนี้ รัฐบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว แต่คดีที่ยังดำเนินอยู่ในชั้นต่าง ๆ ก็มีเป็นพันคดี มันเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะว่าปัจจุบัน ความฉุกเฉินของโควิดมันสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลของมาตรการควบคุมโควิดยังคงไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาชุมนุมโดยสันติอยู่ อีกทั้งที่ผ่านมาเราก็เห็นได้ชัดว่า มาตรการโควิดถูกใช้เพื่อควบคุมโรคน้อยกว่า การใช้ควบคุมผู้ที่เห็นต่าง” นายสุณัย กล่าว

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามยืนยันว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเหตุผลเพื่อการควบคุมโรคเท่านั้น

“เรื่องการคัดค้านการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมไม่ตอบ เพราะมันมีเหตุผลความจำเป็นของเขาอยู่แล้ว ผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชนเลย ประชาชนท่านจะไปชุมนุมท่านก็ไปขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของท่าน ในส่วนตรงนี้เขาไม่ต้องการให้คนไปอยู่รวมกลุ่มมาก เพื่อจะป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ก็แล้วแต่ท่านจะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้เหมือนกัน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเมื่อ 30 มิถุนายน 2563

ปัจจุบัน ยังไม่มีสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติในประเทศไทย ตอบกลับจดหมาย หรือให้ความเห็นต่อการเรียกร้องครั้งนี้

ขณะเดียวกัน นายฮานีฟ สาลาม นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จนถึงตอนนี้มีความชัดเจนมากว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง และยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อมีเยาวชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

“สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็หนักมากสำหรับเด็ก ๆ แล้ว นอกจากเขาจะเรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่ เด็กที่ออกมาทำกิจกรรมยังถูกดำเนินคดีอยู่เรื่อย ๆ นี่มันเป็นเรื่องไม่ปกติมาก ๆ เราจะไปต่อหลังหมดยุคโควิดกันได้ อันดับแรกต้องยกเลิกคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดไปเสียก่อน” นายฮานีฟ ระบุ

กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี แล้วอย่างน้อย 1,145 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 1,864 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง