พบจุดความร้อนเกือบพันจุด ในภาคเหนือทำสถานการณ์ฝุ่นวิกฤต
2024.04.01
กรุงเทพฯ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยว่า พบจุดความร้อนเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 952 จุด จาก 1,864 จุด ทั่วประเทศ โดยสถานการณ์ไฟไหม้ในพื้นที่เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เฉพาะปี 2567 กินพื้นที่แล้ว 9.4 หมื่นไร่ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือมีค่า PM2.5 เฉลี่ย 102 มคก./ลบ.ม. ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพมาก
GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า ประเทศไทย พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,864 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน เฉพาะภาคเหนือ 952 จุด
“พบจุดความร้อนมากที่สุด คือแม่ฮ่องสอน 298 จุด เชียงใหม่ 255 จุด ลำปาง 108 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนต่อเนื่อง โดยสูงสุดวานนี้ยังคงเป็น พม่า 5,296 จุด ตามด้วยลาว 3,047 จุด” GISTDA ระบุในวันจันทร์
ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ ระบุว่า เฉพาะปี 2567 เชียงใหม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าแล้วกว่า 6.86 หมื่นไร่
“ไฟป่าพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำกาแลไต่ไปตามทางในป่าสู่หอดูดาว สามารถดับสำเร็จแล้ว แต่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ฝั่งอำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง ยังคงเกิดไฟป่าต่อเนื่องทุกวันในช่วงนี้” ศูนย์บัญชาการป้องกันฯ ระบุ
ขณะที่ นายลิขิต ไหวพรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ไฟป่าในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2567 สร้างความเสียหายกินพื้นที่กว่า 2.66 หมื่นไร่”
สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส ทำให้สภาพฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกพื้นที่
“ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42.4 - 161.9 มคก./ลบ.ม. ค่าฝุ่นสูงที่สุดในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 161.9 มคก./ลบ.ม. รองลงมาคือ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 144.2 มคก./ลบ.ม. และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 137 มคก./ลบ.ม.” ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ระบุ

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเตือนให้ ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
จากกรณีที่เกิดขึ้น นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คณะกรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทุกภาคส่วนควรลดการเกิดไฟป่า เนื่องจากหากมีไฟป่าแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ยาก
“เราพยายามกระจายองค์ความรู้ด้านการดับไฟเผยแพร่ไปทั่วแล้ว ก็คงต้องระดมอุปกรณ์เรื่องการดับไฟ ที่จะช่วยพ่อแม่พี่น้องในยามเกิดปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น และตอนนี้มีทีมทำเรื่องโดรนอาสา ทำโดรนขึ้นไปเพื่อให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการทั้งการป้องกันและดับไฟ” นายชัชวาลย์ กล่าว
ขณะที่ น.ส. อรณิชา กิมซัง เจ้าของร้านกาแฟในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกว่าจังหวัดเชียงใหม่มีอุณหภูมิ และค่าฝุ่นสูงขึ้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมามาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาปัญหา
“เราดูแลตัวเองได้แค่ใส่หน้ากาก ซื้อเครื่องฟอกอากาศ ถ้าองค์กรท้องถิ่นจะพอช่วยเหลือเราได้ ก็คืออยากให้แจกเครื่องฟอกอากาศให้ทุกบ้าน แจกหน้ากากอนามัยทุกวัน ทุกคน” น.ส. อรณิชา ระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายใน 90 วัน จากคดีที่ภาคประชาชนฟ้องร้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 10 เมษายน 2566 เนื่องจากทำงานล่าช้าและละเลยการปฏิบัติหน้าที่จัดการปัญหา PM2.5
ต้นเดือนมีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเงิน 272.65 ล้านบาท
ต้นเดือนมกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเอกฉันท์ 443 เสียงผ่านร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ วาระแรก โดยขณะนี้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะดำเนินการ
ต่อประเด็นเดียวกัน ดร. เจน ชาญณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวกับสื่อมวลชนว่า หากไม่สามารถควบคุมการเผาป่าได้ อาจเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าอย่างมากในอนาคต
“น่าเป็นห่วงว่าเมษายนนี้สถานการณ์คงจะสาหัสมาก เพราะดูเหมื่อนว่าจะไม่สามารถควบคุมคนเผาป่าได้ ขณะที่ 25 ปีย้อนหลัง พบการทำลายป่าต้นน้ำตัวเองทุกปี อุณหภูมิ ปีนี้จะแตะ 42 เซลเซียส และแห้งแล้งหนักขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเผาเหมือนเดิมก็จะสาหัสเป็นทวีคูณ ในอนาคต” ดร. เจน กล่าว
ในปี 2566 พบผู้ป่วยที่เกิดจาก PM2.5 กว่า 3 ล้านราย มากที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งปอด, หอบหืด และหัวใจขาดเลือดตามลำดับ โดยพบมากในกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, เชียงใหม่ และขอนแก่น เป็นต้น
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน