อัยการสั่งฟ้อง ม. 112 ธนาธร กรณีไลฟ์วัคซีนพระราชทาน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.04.11
กรุงเทพฯ
อัยการสั่งฟ้อง ม. 112 ธนาธร กรณีไลฟ์วัคซีนพระราชทาน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวกับผู้สนับสนุนของเขาในระหว่างการนัดชุมนุม บนสกายวอล์ค ย่านใจกลางกรุงเทพฯ วันที่ 14 ธันวาคม 2562
เอเอฟพี

อัยการมีความเห็นในวันจันทร์นี้สั่งฟ้อง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย” โดยศาลอาญาได้รับฟ้องคดีดังกล่าว แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายธนาธร ระหว่างต่อสู้คดีด้วยวงเงิน 9 หมื่นบาท

กรณีดังกล่าว นายธนาธรได้แถลงผ่านไลฟ์บนเฟซบุ๊กเพจ “คณะก้าวหน้า” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” วิพากษ์-วิจารณ์ การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความล่าช้า และไม่ครอบคลุมต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยระบุว่า การจัดซื้อเป็นการหวังผลทางการเมือง และมีการกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธนาธร ต่อศาลอาญาในวันจันทร์นี้ ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาญาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา

“คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าเกิดว่าดีลอย่างนี้มีอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10” ในคำฟ้องของอัยการ ระบุคำพูดที่เป็นปัญหาของนายธนาธร

“จากคำกล่าวของจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าทรงมีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำของรัฐบาลที่นำงบประมาณไปใช้ในการสนับสนุนการผลิตและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทเดียว อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ และเป็นการกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทืยบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” คำฟ้องของอัยการ ระบุ

ด้าน นายธนาธร เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่หน้าศาลอาญาว่า ตนเองได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 9 หมื่นบาท มีเงื่อนไขห้ามตนเองกระทำซ้ำแบบที่ถูกฟ้อง หรือกระทำการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 6 มิถุนายน 2565

“เรายืนยันว่า สิ่งที่ผมได้ทำการพูดไปนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งวันนี้เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ผมพูดมันเป็นจริง วัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือ วัคซีนชนิด mRNA ไม่ใช่วัคซีนชนิด Viral Vector ก็คิดว่า เวลามันจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดไปมันส่งผลกับประชาชนหรือไม่อย่างไร ประชาชนก็คงตัดสินเองได้ เราปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แล้วก็พร้อมสู้คดีถึงที่สุด โดยเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเรา ดังนั้นก็คงจะเตรียมการเต็มที่” นายธนาธรกล่าว

“ยุคนี้ต้องบอกว่าเป็นยุคที่มีคดีการเมืองมากที่สุด เป็นยุคที่มีคดีจากเรื่อง 112 มากที่สุดมากกว่าทุกยุคทุกสมัย ผมก็ยืนยันว่า การใช้คดีทางการเมืองมาเล่นงานผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองไม่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่ใช่คนแรกและผมไม่ใช่คนสุดท้ายด้วย” นายธนาธร ระบุ

คดีที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องจาก การที่นายธนาธร วิพากษ์-วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งจะมีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเปิดเผยว่า สยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทที่ริเริ่มโดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และร้องให้ศาลมีคำสั่งลบข้อความที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญาได้ยกคำร้องของดีอีเอส ที่ร้องขอให้ศาลอาญาออกคำสั่งบังคับให้นายธนาธร ระงับการเผยแพร่วิดีโอแถลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ข้อความที่นายธนาธรระบุ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลในวันนี้

ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยปาระเบิดที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 บ้านนายกฯ แล้ว 2 ราย

สืบเนื่องจาก ในเวลาประมาณ 19.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิด 1 ลูก เข้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งภายในมีบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

พ.ต.อ. ดนุภัทร ขวัญพสุมนต์ ผู้กำกับการ สน.ท่าเรือ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้ถึงความคืบหน้าของกรณีที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้แล้ว 2 ราย โดยปัจจุบัน รายแรกถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ท่าเรือ ขณะที่อีกรายถูกควบคุมตัวโดย สน.บางซื่อ

“นายธนายุทธ ณ อยุธยา ตอนนี้ ถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ท่าเรือ กำลังสอบปากคำ เบื้องต้นเขาไปร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วบอกว่า มีคนเอาระเบิดมาฝากไว้ เราจึงแจ้งข้อหามีระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเขาให้การปฏิเสธว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุปาระเบิดที่ ราบ 1 ส่วนอีกคนที่มีภาพตรงกับกล้องวงจรปิด ตอนนี้อยู่ที่ สน.บางซื่อ”​ พ.ต.อ. ดนุภัทร กล่าวผ่านโทรศัพท์

พ.ต.อ. ดนุภัทร ระบุว่า นายธนายุทธ ได้ครอบครองประทัดยักษ์ และระเบิดปิงปองกว่า 160 ลูก จะถูกนำไปขออำนาจศาลฝากขังในวันอังคารนี้ ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาอีกราย ซึ่งถูกควบคุมตัวโดย สน.บางซื่อ มีชื่อว่า น.ส. ปฎิมา (สงวนนามสกุล) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฝากขัง และถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยถูกตั้งข้อหา ทำให้วัตถุระเบิดเกิดระเบิดขึ้น

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง