ศาลยกฟ้อง 67 แกนนำพันธมิตรชุดที่สอง คดีปิดสนามบินปี 51
2024.03.29
กรุงเทพฯ

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุดที่สอง 67 ราย คดีบุกล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อปี 2551 นักวิชาการชี้ แม้ผลการตัดสินคดีนี้จะยุติธรรม แต่ยังเห็นบรรทัดฐานของกระบวนการต่างกันในบางคดี
ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษา คดีการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุดที่ 2 เมื่อปี 2551 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค และพวกรวม 67 ราย ในฐานะจำเลย
“พวกจำเลยมาชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน ทุกข้อหา”
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก วันที่ 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 จำเลยร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมใหญ่ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง และทำลายทรัพย์สินเสียหาย เป็นเงิน 6.27 แสนบาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออก
ปี 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาต่อแกนนำ และผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตร 98 ราย ในข้อหาความผิดฐานเป็นกบฏ, ก่อการร้ายฯ, บุกรุกฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่น กระทั่งอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องคดีในปี 2556
อย่างไรก็ตาม กระบวนการมีการเลื่อนมาเรื่อย ๆ กระทั่งพิพากษายกฟ้อง จำเลยชุดแรกซึ่งมี พล.ต. จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 31 ราย ในวันที่ 17 มกราคม 2567 แต่สั่งปรับแกนนำบางคนฐานบุกรุกเป็นเงิน 2 หมื่นบาท ส่วนอีก 67 ราย นัดฟังคำพิพากษาในวันศุกร์นี้
หลังทราบคำพิพากษา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พันธมิตรฯ เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาล
“ที่เราต่อสู้มาหลายปีก็เพื่อมาสู่จุดนี้ว่า พวกเราทั้งหมดไม่เคยหนีศาล ไม่เคยขอร้องอภิสิทธิ์ใด และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกระบวนการยุติธรรม ในชั้นพิจารณาคดี รวมถึงการพิพากษา กระทั่งการอยู่ในเรือนจำ คดีพันธมิตรไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ ได้ยกฟ้องทั้งหมด” นายปานเทพ กล่าว
“เราไม่เคยเรียกร้องการนิรโทษกรรม ตลอด 16-17 ปีมานี้ แม้จะมีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม เรากลับเป็นฝ่ายคัดค้าน ทั้งที่ตัวเองจะได้ประโยชน์ ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำไปให้ตัวเองได้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนบางกลุ่ม เช่น กรณีคุณทักษิณ” นายปานเทพ กล่าวเพิ่มเติม

กรณีที่นายปานเทพ อ้างถึงคือ การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมายังประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 หลังลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศกว่า 16 ปี เพื่อรับโทษจำคุก 8 ปี จากคดีทุจริต 3 คดี สมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมานายทักษิณได้รับอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี
แต่นายทักษิณกลับไม่เคยนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เนื่องจากถูกพาออกไปรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลาหกเดือน ก่อนที่จะได้รับการพักโทษ และปล่อยตัวเป็นอิสระเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ต่อคำพิพากษาดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การตัดสินของศาลถือเป็นการประนีประนอมทางการเมือง
“การจับมือของกลุ่มอำนาจเก่ากับรัฐบาลเพื่อไทย ทำให้ทุกฝ่ายสมประโยชน์กันหมด เพราะมีศัตรูร่วมกันคือ ก้าวไกล มองในเชิงนิติศาสตร์ก็อาจพูดได้ว่าการตัดสินคดีนี้เป็นไปตามพยานหลักฐาน แต่ถ้าเปรียบเทียบคดีการเมืองอื่น ๆ การต่อสู้ตามกระบวนการตามชั้นศาล อย่างน้อยที่สุดเขายังไม่ควรจะถูกควบคุมตัวจนกว่าศาลจะตัดสิน แค่นี้บรรทัดฐานก็ต่างกัน” รศ.ดร. โอฬาร ระบุ
คดีชุมนุมพันธมิตร
ในปี 2548 ไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นไม่เกิน 50% ในบริษัทโทรคมนาคมไทย ต่อมาครอบครัวชินวัตรได้ขายหุ้นของ บริษัท ชินคอร์ป เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอไอเอส 49.59% ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ทำให้สังคมวิจารณ์ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่างหนักว่า บริหารราชการแผ่นดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งนำโดยนายสนธิ และพล.ต. จำลอง ชุมนุมเรียกร้องให้นายทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง กระทั่ง 20 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้รัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ทำให้นายทักษิณตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งนายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้ง
ในการเลือกตั้งปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาแทนไทยรักไทยสามารถชนะเลือกตั้ง ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต่อด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ จึงกลับมาชุมนุมอีกครั้งในปี 2551
ในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้ายึดสถานที่ราชการ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน และมีนักท่องเที่ยวตกค้างจำนวนมาก กระทั่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และให้นายสมชายพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ในปลายปี 2551 การชุมนุมจึงยุติ ตลอดการชุมนุมปี 2551 มีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม 737 ราย และ เสียชีวิต 8 ราย
ปี 2560 ศาลแพ่งสั่งให้แกนนำพันธมิตร 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท จากคดีการบุกยึดท่าอากาศยาน 2 แห่ง ในปี 2562-2564 ศาลฎีกาสั่งจำคุกอดีตแกนนำพันธมิตรรวม 9 คน เป็นเวลา 8 เดือน จากคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภายหลังจำเลยทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษ