โปรดเกล้าฯ ครม. อิ๊งค์ 1 หน้าเก่า 23 ผู้ร่วมสายเลือดนั่งแทน 3
2024.09.04
กรุงเทพฯ
ในหลวงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ 35 คน ของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน 23 คน ขณะที่มี 3 คน ผู้ร่วมสายเลือดนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทน ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า หน้าตา ครม. ชุดใหม่ จะเป็นบทเรียนทางการเมืองให้ประชาชน
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 18 ส.ค. 2567 แล้ว นั้น
บัดนี้ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี
นายภูมิธรรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล, นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, น.ส. จิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอัครา พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
น.ส. ซาบีดา ไทยเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, น.ส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
แผนงาน ครม. ใหม่
ในวันพุธนี้ น.ส. แพทองธาร ได้เดินทางไปที่อาคารชินวัตร 3 แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเรื่องการโปรดเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่ อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรียังยืนว่า รัฐบาลพร้อมดำเนินการโครงการที่ รัฐบาลนายเศรษฐา เคยประกาศไว้
“ยังมี (ดิจิทัลวอลเล็ต) แน่นอน แต่ต้องปรับรูปแบบ เรามีการวางแผนที่จะจ่ายเป็นเงินสดด้วย อะไรด้วย ก็ลองดูว่า อะไรที่จะแก้ในรายละเอียด แต่ขอรายละเอียดให้มันชัดเจนกว่านั้น กลัวจะพูดไปเดี๋ยวมันไม่ตรง” น.ส. แพทองธาร กล่าวกับสื่อมวลชน
ด้าน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งไปยังผู้ที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีให้ไม่เดินทางออกไปต่างจังหวัด เนื่องจากจะต้องมีการนัดเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับตำแหน่ง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีได้นัดประชุม ครม. นัดพิเศษ 10 กันยายนนี้ เพื่อหารือเรื่องการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 16 กันยายน 2567 และวันที่ 17 กันยายน จะมีนัดประชุม ครม. ชุดใหม่อย่างเป็นทางการนัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล
นายเอกนัฏ ซึ่งเคยเป็นแกนนำ กปปส. ขับไล่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในปี 2556 ยืนยันว่า การร่วมรัฐบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
“ผมจะพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน และจะยึดมั่นในอุดมการณ์ทุกอย่างที่เราเคยได้เป็น คิดว่าผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ก็ยินดีรับฟังทุกความเห็น สำหรับผมและพรรครวมไทยสร้างชาติ เราต้องเลือกวิธีที่เราเชื่อวิธีที่เราเชื่อว่า เป็นทางออกของประเทศ หรือทางเดียวที่ดีที่สุด ปกป้องสถาบันหลักของประเทศ” นายเอกนัฏ กล่าว
ขณะที่ นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตามที่เคยประกาศไว้ในรัฐบาลนายเศรษฐา
“นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวยังประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ตามเดิม ซึ่งในต้นเดือนกันยายนนี้ปลัดกระทรวงแรงงานจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างอีก 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการประกาศความชัดเจนภายในเดือนนี้แน่นอน” นายพิพัฒน์ กล่าว
นักวิชาการมองโฉมหน้า ครม. อิ๊งค์ 1
ครม. อิ๊งค์ 1 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 36 คน โดยเป็นการรวมตัวของหกพรรคการเมือง ประกอบด้วย เพื่อไทย, ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ประชาชาติ, ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา และหนึ่งกลุ่มการเมืองคือ กลุ่มของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว. เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ประกาศตัวเป็นอิสระจากพรรค
ผศ. นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ชี้ว่า ครม. ชุดนี้ตอกย้ำว่า ในการเมืองไม่มีศัตรูถาวร
“คำว่า ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวรในการเมือง ยังใช้ได้ในการเมืองไทย เสื้อเหลืองเสื้อแดงต่อสู้กันมา สุดท้ายแกนนำมารวมกัน (ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล) กปปส. ออกมาขับไล่ตระกูลชินวัตร สุดท้ายแกนนำ (นายเอกนัฏ) ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้หลายคนผิดหวัง เจ็บอกเสียเอง เป็นประชาชนที่มีอุดมการณ์ผิดหวัง สุดท้ายชนชั้นนำทางการเมืองจับมือกัน เป็นบทเรียนให้ประชาชนคนไทยต้องเรียนรู้” ผศ. นพพร กล่าว
“ครม. ชุดนี้น่าจะยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และทุกคนก็คงรู้ดีว่า คนที่มีอิทธิพลจริง ๆ คือ คุณทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของ น.ส. แพทองธาร) การทำงานของพรรคไทยรักไทยในอดีต คือ รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม ดังนั้นการสั่งการเด็ดขาดทำได้ยาก ครม. ใหม่จึงอาจจะเป็นเพียงการประคับประคองกันไปให้อยู่จนครบวาระ สร้างผลงานให้ชัดเจนที่สุด ก่อนจะเลือกตั้งอีกครั้ง”
สำหรับ ครม. ชุดใหม่ นายอดิศร เพียงเกศ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภาว่า มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลของคนทุกรุ่น
“คณะรัฐมนตรีทุกท่าน ทุกพรรคได้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ยิบ คนที่มาแทนคนเดิม ก็มีวุฒิการศึกษาวัยวุฒิที่เหมาะสม และมีประสบการณ์ที่จะทำงานได้ คุณแพทองธาร ยังไงก็เป็นลูกสาวคนสุดท้องของคุณทักษิณ มันตัดขาดกันไม่ได้ ก็ต้องพิสูจน์ตนเอง ท่านแม้จะมีอายุน้อย แต่ไวต่อการรับรู้ น้ำไม่เต็มแก้ว มีคนรุ่น 70 กว่าก็มี ก็ถือเป็นรัฐบาลของคนทุกรุ่น” นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร เชื่อว่า ครม. ชุดใหม่ แม้เป็นการร่วมงานของหลายกลุ่มความเชื่อทางการเมือง แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเป็นศัตรูทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย หรืออดีต แกนนำ กปปส. ซึ่งเคยขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์
“แม้ความเป็นจริงเราจะมีข้อหมองใจกันอยู่ (กับรัฐมนตรีบางคน) แต่รัฐธรรมนูญ โดยการทำงาน บังคับให้เราต้องอยู่ร่วมกัน ก็ต้องให้โอกาส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำงาน ดูว่าท่านจะเป็นอิสระในการนำพาประเทศชาติและรัฐบาลไปได้” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน