คนชายแดนใต้สิ้นหวังกับนโยบายสันติสุขของรัฐบาลแพทองธาร
2024.09.12
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี
คนในพื้นที่สะท้อนความรู้สึกสิ้นหวังต่อนโยบายสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ขณะที่ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เชื่อการให้พลเรือนนำการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนที่จะเป็นฝ่ายความมั่นคงจะทำให้เกิดมิติใหม่ในการแก้ปัญหา
“รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ชัดเจนเลย เกิดมา 50 กว่าปี ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนจริงจังกับเรื่องนี้ หลายรัฐบาลบอกว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีอะไรจับต้องได้ชัดเจน มันเลยเป็นแค่ลมปากนักการเมือง ถ้าถามว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นในรัฐบาลแพทองธารไหม ก็ต้องบอกว่า ชาวบ้านไม่หวัง” นายฮัมซะ ดอเลาะ ประชาชนในจังหวัดปัตตานี กล่าว
ในวันพฤหัสบดีนี้ น.ส. แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซึ่งในนโยบาย 14 หน้ามีการพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เพียง 2 ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น
“รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งของนโยบาย ระบุ
นอกจากการแก้รัฐธรรมนูญ น.ส. แพทองธาร เพียงระบุในตอนหนึ่งของการแถลงนโยบายว่า จะป้องกันและแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงโดย “การสร้างความปลอดภัยและความสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
ในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ขึ้นไป 414 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ Projek SAMA SAMA (โปรเจคซามอ-ซามอ) ร่วมกับ We Watch ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ระบุว่า ประชาชน 58.7 % พึงพอใจน้อยมากต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ในช่วง 1 ปีที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
และ ประชาชนคาดหวังต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล น.ส. แพทองธาร ระดับน้อยที่สุด 39.1 % โดยมีเพียง 6.8 % เท่านั้นที่ยังคาดหวังระดับมากต่อการแก้ปัญหา กลุ่มตัวอย่างยังแนะนำให้ ครม. ชุดใหม่ดำเนินการ 1. เร่งแก้ปัญหาความมั่นคง และสันติภาพ กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ และปากท้อง 2. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3. ลดบทบาทกองทัพ และใช้รัฐสภาในการแก้ปัญหามากขึ้น
ต่อนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ชี้ว่า สิ่งที่ น.ส. แพทองธาร ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องทำคือ แสดงให้ประชาชนในพื้นที่เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหา
“ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนและแน่วแน่มั่นคงในการแก้ไขปัญหา และสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวโน้วความรุนแรงกำลังหวนกลับคืนมา ตอนนี้มีสัญญาณแบบนี้ถี่ขึ้น ปี 2570 คือ ค่าเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้ระบุว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นศูนย์ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนให้หลักประกันได้เลยว่า เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ อันนี้คือโจทย์ใหญ่ของนายกรัฐมนตรี” นายรอมฎอน ระบุ
ไฟใต้ยังระอุ
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
เฉพาะปี 2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างน้อย 53 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และบาดเจ็บ 26 ราย
นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ว่า รัฐบาลควรสร้างความตระหนักรู้เรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม และพยายามมีตัวชี้วัดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การแก้ปัญหาในเชิงการเมืองที่รัฐบาลต้องทำอาจไม่ใช่เฉพาะการแก้กฎหมายเท่านั้น แต่หมายถึงการ การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกเขียนจนถึงเรื่องนั้น รัฐบาลควรพยายามดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนไปมา และมีตัวชี้วัดที่มากกว่าแค่ ปริมาณความรุนแรงลดลง แต่ต้องสร้างความยั่งยืน โดยใช้ตัวชี้วัดแบบคุณภาพด้วย” นางบุษยมาส กล่าว
ทั้งนี้ ในร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.78 พันล้านบาท และงบประมาณขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิบหัวข้อในหมวดงบรายจ่ายบูรณาการมูลค่า 2.06 แสนล้านบาทด้วย
รัฐบาลระบุว่า มีเป้าหมายจะลดการสูญเสีย และความรุนแรง 80 % โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงระหว่างการอภิปรายนโยบายของ ครม. ชุดใหม่ว่า รัฐบาลจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างมีส่วนร่วม
“สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลชุดนี้แถลงนโยบาย แล้วเอาไปผูกมัดเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ คือ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน นี่คือความท้าทาย ถ้าเราจะขยายไปสู่ความยั่งยืน ประชาชนมีส่วนร่วมคือความเป็นประชาธิปไตย” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
พูดคุยสันติสุข
ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท ขณะที่การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี แต่การพูดคุยฯ ดังกล่าวขาดช่วง ก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2563 โดยตัวแทนรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาเจรจากับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น และมีการพูดคุยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“การลดความรุนแรงและความขัดแย้ง ควรใช้การเจรจา และหาทางออกทางการเมือง โดยให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพ ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ รัฐ เอ็นจีโอ และผู้เห็นต่าง เชื่อว่า การยกเลิกกฎหมายพิเศษ ซึ่งใช้มาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ และจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้” น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
การพูดคุยสันติสุขฯ กำหนดเป้าหมายใช้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ตั้งแต่ปี 2566 โดยวางแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1.การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการลงนามร่วมกันเพื่อรับรองใช้แผนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
ปลายปี 2566 นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถูกนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย แทน พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ ซึ่งนับว่าเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตามมีการคาดหมายว่า เมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอาจเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็ได้
“การแก้ปัญหาชายแดนใต้จะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมกัน และเดินไปพร้อมกัน ถ้าจะมีพลเรือนมานำก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหารอบด้าน ทั้งการพัฒนา งานการศึกษา และสังคมจิตวิทยาในพื้นที่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทหารยินดีอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้ทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ถ้าได้พลเรือนนำก็เป็นมิติใหม่ในการแก้ปัญหา” พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แม้จะมีการพูดคุยฯ แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ควบคู่ไปด้วย ทำให้ ต้นปี 2567 องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 30 องค์กร ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสหประชาชาติ ให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง