ไผ่ ดาวดิน-ครูใหญ่ ขอนแก่น ถูกศาลตัดสินจำคุก คดี ม. 112
2024.09.13
ชัยภูมิ
ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ครูใหญ่ ขอนแก่น หรือ นายอรรถพล บัวพัฒน์ ถูกศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ พิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน และ 2 ปี ตามลำดับ จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หน้าโรงเรียน และ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
“จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม. 112 จำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษไผ่กึ่งหนึ่ง กรณีทำผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี จำคุกไผ่ 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกไผ่ 2 ปี 12 เดือน จำคุกครูใหญ่ 2 ปี ยกฟ้องในข้อหาตาม ม. 116, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ
คดีนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กลุ่มราษฎรจัดการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีเข้าไปคุกคามนักเรียนที่ร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ ในเดือนมกราคม 2564 โดย ไผ่ และครูใหญ่ ปราศรัยบริเวณริมรั้วโรงเรียนภูเขียว
ต่อมา เดือนมิถุนายน 2564 ตำรวจออกหมายเรียกไผ่, ครูใหญ่, ไมค์ ระยอง หรือนายภานุพงศ์ จาดนอก มารับทราบข้อกล่าวหา ม. 112, ม. 116 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพราะทั้งหมดขึ้นปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยก่อนหน้านี้ เคยเรียกผู้ชุมนุมอีก 26 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ด้วย
กระทั่ง เดือนเมษายน 2567 คดีเข้าสู่กระบวนการสืบพยานในชั้นศาล แต่เนื่องจากไมค์ ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงพิจารณาเฉพาะคดีของ ไผ่ และครูใหญ่ ในคำฟ้อง พนักงานอัยการระบุว่า ข้อความที่ไผ่ ปราศรัย “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนาน ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยนี้รวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยา ไม่เคยมาดูแลประชาชน”
และครูใหญ่ที่ระบุว่า “ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูกขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขาหายไปเป็นลูก ถ้าไม่ใช่กษัตริย์จะใช่ใคร ต้องกําจัดงบประมาณของกษัตริย์” เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ด้าน ฝ่ายจำเลยยืนยันว่า “การปราศรัยเน้นไปที่การดำเนินนโยบายและออกกฎหมายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินและกำลังพล รวมถึงแก้รัฐธรรมนูญซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การล้มล้าง”
อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำพิพากษาในวันศุกร์นี้ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคน โดยปัจจุบัน ทนายความของทั้งคู่กำลังยื่นขอประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่
นักโทษคดี ม. 112 ถูกขังอยู่ 28 คน
ในปี 2560 ไผ่ ดาวดิน เคยถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน จากข้อหา ม. 112 ในคดีการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง
ปี 2563 ไผ่ และครูใหญ่ ขอนแก่น เป็นแกนนำที่มีบทบาทในการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าวเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม และเกิดการชุมนุมขึ้นอีกหลายร้อยครั้งทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี นำมาซึ่งการที่รัฐบาลเริ่มฟ้องดำเนินคดีกับแกนนำปราศรัย ผู้ร่วมชุมนุม กระทั่งผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต
“ปัจจุบันนี้ คนที่วิจารณ์สถาบันก็โดนตั้งข้อหา ถ้าเอาหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เชื่อว่า คนที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย กระทั่งนักโทษจำนวนมากในข้อหาคดี ม. 112 นั้นควรจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ยิ่งเป็นการแสดงออกทางความคิด ความเชื่อที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรง หรือยุยงให้ใช้ความรุนแรง โดยหลักสิทธิมนุษยชนก็ไม่ผิดอยู่แล้ว ไม่ว่าข้อหาใดก็ตาม สหประชาชาติก็เรียกร้องเรื่องนี้” นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,956 คน ในจำนวน 1,302 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 273 คน จาก 306 คดี
ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 42 คน โดยในนั้น 28 คน เป็นผู้ต้องขังคดี ม. 112 โดยในปี 2567 มีคดี ม. 112 จำนวนมากเกิดขึ้น เช่น เดือนมกราคม นายมงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรมชาวเชียงราย ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ นับเป็นการตัดสินโทษจำคุกคดี ม. 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
สิงหาคม 2567 นายทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น ถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 6 ปี จากการโพสต์รูปตัวเองใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว และ น.ส. จตุพร แซ่อึง หรือนิว นักกิจกรรมการเมือง ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ฐานแต่งกายเลียนแบบพระราชินี
“นิรโทษกรรมเป็นข้อเสนอที่ต่ำที่สุดแล้ว นิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิก ม. 112 แต่เป็นการบอกว่า คดีต่าง ๆ ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านั้นควรได้รับโอกาสใหม่ ไม่ใช่การยกเลิก หรือแก้ไข ยกเลิก ม. 112 อาจเป็นแค่หนึ่งสิ่งที่ต้องกระทำ เป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมกลับสู่รูปรอย กลับสู่ประชาธิปไตย” น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายฯ กล่าว
ปัจจุบัน พรบ. นิรโทษกรรมสี่ฉบับ ซึ่งมาจากภาคประชาชน และพรรคการเมือง ที่มีเนื้อหายกเลิกโทษ และคดีความให้กับผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง กำลังอยู่ในการศึกษาของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า พรบ. ฉบับนี้จะยกเลิกโทษคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม. 112 หรือไม่
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน