คนร้ายยิงผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจเสียชีวิตที่ปัตตานี

มารียัม อัฮหมัด
2024.06.26
ปัตตานี
คนร้ายยิงผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจเสียชีวิตที่ปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรยะรัง เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ หลังนายรอนิง ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านพักคืนวันอังคารก่อนหน้า โดยมีพยานเป็นกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 26 มิถุนายน 2567
เบนาร์นิวส์

เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายรอนิง ดอเลาะ ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย และผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ เสียชีวิตที่บ้านพักในคืนวันอังคาร ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ขณะที่ช่วงค่ำของวันเดียวกัน มีการประชุมคณะเทคนิคของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมาเลเซีย ซึ่งผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซีย ระบุว่า การพูดคุยมีความคืบหน้า และเตรียมที่จะมีการพูดคุยเต็มคณะฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 

พ.ต.ต. สุวรรณ นาคสง่า สารวัตร(สอบสวน) สภ.ยะรัง เปิดเผยวันพุธนี้ว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. ของคืนวันอังคาร เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามสังหารประชาชนในพื้นที่ บ.บาโงกาบู หมู่ที่ 4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง 

“เหตุเกิดขณะที่ นายรอนิง นั่งพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหน้าบ้านพักของตนเอง มีคนร้าย 2 คน เดินมาจากทางหลังบ้าน แล้วใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่นายรอนิง กระสุนปืนถูกบริเวณลำตัว ทำให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ” พ.ต.ต. สุวรรณ กล่าว

พ.ต.ต. สุวรรณ ระบุว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวน และรวบรวมหลักฐานเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

“จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. 7 ปลอก และปลอกกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. 1 ปลอก จึงได้จัดเก็บวัตถุพยาน และรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อหาความเชื่อมโยงของกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย” พ.ต.ต. สุวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางมีละห์ กูเต๊ะ ภรรยาของผู้ตาย เปิดเผยว่า สามีถูกยิงหลังจากเพิ่งกลับจากการทำงาน

“ก่อนเกิดเหตุ สามีไปนวดคลายเส้นให้ชาวบ้าน แล้วก็พาลูกไปซื้อขนม กลับมานั่งหน้าบ้าน จนได้ยินเสียงปืน ก็ตกใจ คนร้ายเห็นชัดเจนว่ามากัน 2 คน แต่งชุดดำคล้ายทหารพราน เดินเข้ามายิงแล้วได้หลบหนี” นางมีละห์ กล่าว

นายรอนิง อายุ 45 ปี มีอาชีพหลัก คือการนวดเส้นให้กับผู้ป่วยอัมพฤกษ์และชาวบ้านทั่วไป เขามีลูก 5 คน คนเล็กสุดอายุเพียง 8 เดือน ขณะที่คนโตอายุ 14 ปี ขณะเดียวกันก็รับเลี้ยงดูหลานอีก 4 คนด้วย

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส. อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ระบุว่า นอกจากนายรอนิงจะเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยแล้ว ยังร่วมงานกับกลุ่มด้วยใจทำการอบรมให้ความรู้ชาวบ้านด้วย 

“เหตุที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีเด็กไร้ผู้ปกครอง 9 คน ทำไมความรุนแรงถึงเกิดขึ้นหลังการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หลาย ๆ ครั้ง ก่อนหน้านี้ รอนิงเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเคยถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวถึง 5 ครั้ง และระหว่างถูกคุมตัวก็โดนทำร้ายร่างกาย จนได้มีการร้องเรียน จนเจ้าหน้าที่ต้องออกมาขอโทษ” น.ส. อัญชนา กล่าว

ด้าน พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ขออย่าให้ประชาชนอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่

“เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วหาคนทำไม่ได้ กลุ่มเหล่านั้นก็พยายามชี้ว่า ฝ่ายรัฐเป็นคนทำ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ แต่หลาย ๆ เหตุการณ์ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วก็จะพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ” พ.อ. เอกวริทธิ์ กล่าว

ในวันพุธนี้ กลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสอบสวนการเสียชีวิตของนายรอนิง โดยทันที อย่างโปร่งใส และเป็นอิสระ

“การสอบสวนดังกล่าวมีความสำคัญ ไม่เพียงแต่เป็นการคืนความยุติธรรมให้กับนายรอนิง และครอบครัวที่เขารักเท่านั้น แต่ยังเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอันน่าหวาดกลัวต่อการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ของไทย” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัย ระบุในคำแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

240626-th-deep-south-violence.jpeg
หญิงมุสลิมชูป้ายข้อความ “หยุดความรุนแรง เลิกความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” ในการชุมนุมต่อต้านความรุนแรงที่มีชาวมุสลิมและชาวพุทธเข้าร่วม ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 22 มกราคม 2562 (เอเอฟพี)

ในช่วงดึกของวันเดียวกัน เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนลอบยิง อส. มูฮามะมากรี มาหะมะ อายุ 40 ปี สังกัดกองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.สายบุรี ได้รับบาดเจ็บในหมู่บ้านจ่ากอง หมู่ที่ 6 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หลังเกิดเหตุ อส. มูฮามะมากรี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะที่คนร้ายหลบหนีไปได้

ทั้งนี้ ทั้งสองเหตุการณ์ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมคณะเทคนิค คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่มาเลเซีย โดยการประชุมครั้งนี้มี พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 และ รอง ผอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ขณะที่ ฝ่ายบีอาร์เอ็น มี ดร. นิมะ บินซรี เป็นหัวหน้า

“การประชุมคณะเทคนิคมีการทบทวน และจัดทำกรอบการดำเนินการฉบับใหม่ของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ซึ่งกรอบการดำเนินการดังกล่าวเกิดจากการนำข้อคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายมาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ รวมถึงได้เห็นชอบกรอบเวลาการทำงานร่วมกันที่จะนำไปสู่ข้อสรุปของ JCPP ด้วย” พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวก การพูดคุยฯ กล่าว

พล.อ. ซุลกิฟลี ระบุว่า กรอบ JCPP ใหม่ที่ได้มีการดำเนินการร่วมกันนั้นจะมีการพูดคุย และรับรองในการประชุมเต็มคณะซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 

“เชื่อว่า การดำเนินการนี้จะนำไปสู่การรับรอง JCPP ในห้วงเดือนกันยายน 2567 โดยขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยนี้ จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนปาตานี จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวเพิ่มเติม

ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง