คณะพูดคุยไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นหารือลดความรุนแรง ห้วงเข้าพรรษา 108 วัน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2022.08.02
กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์
คณะพูดคุยไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นหารือลดความรุนแรง ห้วงเข้าพรรษา 108 วัน เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุที่มีการโจมตีใน อำเภอจะแน จังหวัดนราธิวาส วันที่ 27 เมษายน 2560
สุรพันธ์ บุญถนอม/รอยเตอร์

คณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นได้ดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขเพื่อยุติปัญหาชายแดนใต้ โดยหารือถึงการลดความรุนแรงเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเข้าพรรษานี้ ล่าสุดเป็นรอบที่สามของปีนี้ เมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา

ซึ่งในตอนเช้าวันอังคารนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่คณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นจะสรุปผลการเจรจา ได้เกิดเหตุคนร้ายจุดระเบิดโจมตีชุดลาดตระเวนอาสาสมัครชุดคุ้มครองครู ในตำบลไม้แก่น ปัตตานี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย

เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาเช้า 7.30 น. โดยกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ ได้วางระเบิดที่บริเวณริมถนนสายชนบท บ้านกระจูด หมู่ที่ 4 ตำบลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ขณะที่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยครูประจำตำบล (อส.ชคต.) จำนวน 6 นาย ขับขี่รถจักรยานยนต์รวมสามคันผ่านมายังที่เกิดเหตุ

“เจ้าหน้าที่ อส. ชุดคุ้มครองตำบลไม้แก่น จำนวน 6 นาย ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวน 3 คัน... เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายจึงได้กดชนวนระเบิดด้วยวิทยุสื่อสารทันที แรงระเบิดถูกรถจักรยานยนต์คันด้านหน้าล้มคว่ำจนได้รับบาดเจ็บ” พล.ต.ต. นรินทร์ บูสะมัญ ผบก.ภ.จว.ปัตตานี กล่าว

อาสาสมัครได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ทราบชื่อคือ 1. อส. จำเริญ เหล็กเพชร และ 2. อส. อัสรอฟ มะอิง ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม้แก่นเรียบร้อย และมีอาการในขั้นปลอดภัย

ส่วนในการเจรจาระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่ดำเนินมาจากวันจันทร์และสิ้นสุดลงในวันนี้นั้น พลเอก วัลลภ กล่าวว่าสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญต่อการริเริ่มลดความรุนแรงในเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา

“คณะพูดคุยและบีอาร์เอ็น ได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติ ตามความริเริ่มรอมฏอนสันติสุข หรือ Peaceful Ramadan Initiative ระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติร่วมกันต่อไป” พลเอก วัลลภ กล่าวในการแถลงข่าวผ่านทางซูมจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

“นอกจากนี้ พวกเรายังมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ความริเริ่มรอมฏอนสันติสุขเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการยุติความรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป” พลเอก วัลลภ ระบุ

ทั้งนี้ ในการเจรจาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงที่จะลดความรุนแรงการปฏิบัติการทางทหารลงในเดือนถือศีลอด ซึ่งบรรลุผลด้วยดี แม้ว่าจะมีเหตุระเบิดในอำเภอสายบุรีเมื่อกลางเดือนเมษายน แต่นั่นเป็นผลงานของขบวนการพูโล ซึ่งนายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานขบวนการพูโล ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่มีชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย

จากความสำเร็จนั้น พลเอก วัลลภ กล่าวว่า ทางฝ่ายไทยได้ยื่นเสนอต่อบีอาร์เอ็นเพื่อที่จะดำเนินความริเริ่มเข้าพรรษาสันติสุข ตามที่พี่น้องชาวพุทธได้เสนอมา

พลเอก วัลลภ ระบุว่า ฝ่ายคณะพูดคุยฯ ได้เสนอให้ลดความรุนแรงในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-30 พฤศจิกายน รวม 108 วัน โดยจะปรับการปฏิบัติแตกต่างจากช่วงรอมฏอนสันติสุขที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติ เป็นให้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง Joint Monitoring Team และเรื่องของการปรึกษาหารือในพื้นที่

220802-th-peace-talks-bombing.jpg

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเตรียมน้ำเกลือให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยครูประจำตำบลไม้แก่น ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่ริมถนนบ้านกระจูด อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี วันที่ 2 สิงหาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

อย่างไรก็ตาม นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยของมาเลเซีย กล่าวว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการเห็นชอบจากฝ่ายบีอาร์เอ็น

“รัฐบาลไทยได้หยิบยกข้อเสนอเรื่องความริเริ่มสันติสุข ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน คล้าย ๆ กับรอมฎอนสันติสุข แต่ทางบีอาร์เอ็นยังไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดบางประการที่เสนอในการเจรจาครั้งนี้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้” นายราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในกัวลาลัมเปอร์

อย่างไรก็ตาม นายราฮิม นูร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายได้เสนอแนวทางว่าจะลดความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้กันอย่างไร

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ซึ่งรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 กระทั่งมีการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุย และมีข้อตกลงร่วมกันอีกครั้งในเดือนเมษายน 2565

ในวันนี้ อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็น ยังไม่ได้ให้รายละเอียด แต่กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า จะมีการแถลงข่าวในวันพุธนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ซึ่งเป็นวันแรกของการเจรจาครั้งนี้ อุสตาซ อานัส กล่าวยืนยันว่า มีการพูดคุยถึงเรื่องการลดความรุนแรง แต่ยังไม่ได้มีการตกลงในเรื่องการลดความรุนแรงในช่วงเข้าพรรษา แม้ว่าทางฝ่ายไทยระบุว่าถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนก็ตาม

ด้านนักวิเคราะห์ กล่าวว่า คงไม่มีการบรรลุข้อตกลงใด ๆ ที่น่าตื่นเต้นในการเจรจาในอนาคตอันใกล้นี้

“ทั้งสองฝ่ายยังต้องเดินบนเส้นทางเจรจาอีกยาวไกลก่อนที่จะสามารถประนีประนอมในการยุติข้อขัดแย้งทางการเมืองกันได้” แมท วีลเลอร์ นักวิเคราะห์ขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) – ที่มีฐานในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นก็คือ ผมคาดว่าจะมีความพยายามมากยิ่งขึ้นในการลดระดับความรุนแรง และต้องมีการดำเนินการพูดคุยในเรื่องการปรึกษาหารือของภาคประชาชนเพื่อการหาทางออกทางการเมือง”

220802-th-peace-talks-rahim-noor.jpg

นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยของมาเลเซีย ขณะให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์จากที่ประชุมในปูตราจายา วันที่ 2 สิงหาคม 2565 (นิชา เดวิด/เบนาร์นิวส์)

นโยบายความมีส่วนร่วม

ในตอนปลายเดือนมิถุนายนนี้ นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล กล่าวกับเบนารนิวส์ว่า ตนได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเพื่อแสดงความพร้อมในการร่วมพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนรัฐบาลไทยในรอบนี้

อย่างไรก็ตาม ในสองวันของการเจรจารอบนี้ คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น ยังไม่มีการระบุถึงขบวนการพูโลแต่อย่างใด

“ประชุมในครั้งนี้ ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องของพูโลขึ้นมาหารือกัน ในพื้นที่มีการปฏิบัติการของพูโล เราก็ห่วงใยเช่นเดียวกัน ความมีส่วนร่วมในนโยบายเราต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม” พลเอก วัลลภ กล่าวในการแถลงข่าว

“ซึ่งการเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุย อย่างที่ผมเคยได้เรียนมาแล้วว่ามาได้สองรูปแบบคือ หนึ่ง ก็ไปร่วมกับกลุ่มขบวนการจัดตั้งเป็นกลุ่มที่จะมาพูดกับเราทั้งขบวนการ สอง ถ้าขบวนการเขาไม่สามารถที่จะมาร่วมกันได้ ในขั้นของการหารือในพื้นที่ พูโลก็จะสามารถเข้ามาดำเนินการในตรงนี้ได้ครับ” พลเอก วัลลภ ระบุ

ในวันนี้ เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจาก นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล ในเรื่องนี้ได้

ส่วน นายราฮิม นูร์ กล่าวว่า “มาเลเซียไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเชิญใครเข้าร่วมการเจรจา เราจะให้ความสะดวกกับฝ่ายใด ๆ ก็แล้วแต่ที่ทางรัฐบาลไทยเชิญเข้าร่วม มีกลุ่มที่สนใจอยู่จำนวนหนึ่ง แต่พวกเขาต้องแสดงความจำนงค์ต่อทางรัฐบาลไทย”

แมท วีลเลอร์ ให้ทัศนะว่า พูโล “คงไม่เข้ามาป่วนกระบวนการที่ตนเองอยากมีส่วนร่วมด้วย”

“ความพยายามของพูโลในการแสดงศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรงที่ผ่านมา คงเป็นการคาดคำนวณในใจเพื่อใช้ในการขอเข้าร่วมเจรจา”

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี นนทรัฐ ไผ่เจริญ และสุเบล ราย บันดารี ในกรุงเทพฯ มุซลิซา มุสตาฟา และนิชา เดวิด ในกัวลาลัมเปอร์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง