เท้ง ณัฐพงษ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชน หวังตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ปี 70
2024.08.09
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของอดีตพรรคก้าวไกล 143 คน สมัครเป็นสมาชิก และเปิดตัวพรรคใหม่ที่ชื่อ “พรรคประชาชน” และเลือกนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ “เท้ง” เป็นหัวหน้าพรรค หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จากคดีการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ยืนยัน ไม่ลดเพดานแก้ไขกฎหมาย ม. 112 และจะชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2570
“ภารกิจของผมและพวกเราต่อจากนี้ พรรคประชาชน เรามีภารกิจที่จะทำให้เราสามารถสร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 70 ได้ หมายถึงว่า เราจำเป็นที่จะต้องชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายที่เป็นขั้นต่ำคือ เราสามารถเป็นพรรครัฐบาลพรรคเดียว อันนั้นคือ เป้าหมายสูงสุดของพวกเรา” นายณัฐพงษ์ แถลงต่อสื่อมวลชน
ในช่วงสายของวันศุกร์นี้ สส. ของอดีตพรรคก้าวไกล 143 คนที่เหลือได้เดินทางไปร่วมประชุมวิสามัญพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ก่อนมติของที่ประชุมพรรคจะเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน (People’s Party)” โดยใช้สัญลักษณ์พรรคเป็นรูปสามเหลี่ยมสีส้ม ซึ่งคล้ายกับสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกล
“เหตุผลที่เราเลือกใช้ชื่อพรรคประชาชนนั้น เป็นเหตุผลที่เรียบง่าย คือเราต้องการจะเป็นพรรคการเมืองโดยประชาชน เพื่อประชาชน และเดินหน้าสู่การสร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เรามีความเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดก็คือประชาชนทุกคนในประเทศ สถาบันการเมืองทุกสถาบันก็ควรจะต้องยึดโยงกับประชาชน” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส. และอดีตโฆษกพรรคก้าวไกล ชี้แจง
ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีมติแต่งตั้ง นายณัฐพงษ์ เป็นหัวหน้าพรรค, นายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรค, น.ส.ชุติมา คชพันธ์ เหรัญญิกพรรค, นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายทะเบียนพรรค และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค
การเปิดตัวพรรคประชาชน สืบเนื่องจากวันพุธที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จากการที่พรรคใช้การแก้ไข ม. 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 จนทำให้ได้ สส. ถึง 151 คนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งยังตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ซึ่ง สส. ของพรรคก้าวไกลที่ไม่ถูกตัดสิทธิต้องมีพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นายณัฐพงษ์ ยืนยันว่า พรรคจะไม่ลดเพดานการแก้ ม. 112
“เราไม่เคยที่จะสื่อสารว่า เรามีการลดเพดานเรื่องอะไร เรายืนยันมาโดยแน่ชัดที่สุดว่า เราเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 เพื่อปรับปรุงกฎหมายนี้ไม่ให้มีปัญหาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้สั่งห้ามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ ผมคิดว่า เราก็ยังจะต้องผลักดันเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่” หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลซึ่งเพิ่งถูกยุบนับเป็นพรรคเกิดใหม่จากกรณีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี สส. 80 คน จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สส. พรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล ขณะที่ อดีตกรรมการบริหารพรรคได้ตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน
พรรคใหม่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น
ต่อประเด็นความท้าทายของพรรคประชาชน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า พรรคใหม่พรรคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้สนับสนุนพรรค
“สิ่งที่พรรคต้องเร่งจัดการคือ ในสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งซ่อม หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคประชาชน พรรคต้องชนะให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้เร็วที่สุด อีกเรื่องที่จำเป็นต้องทำคือ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ได้มีประสิทธิภาพ แบบที่ก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เคยทำ ถ้าสามารถสอยรัฐมนตรีได้สัก 1-2 คน ความนิยม และความเชื่อมั่นน่าจะกลับมาเต็มเปี่ยม นั่นคือความท้าทาย” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
สำหรับ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ปัจจุบัน อายุ 37 ปี เป็นคนจังหวัดสงขลา จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิชาเอกคอมพิวเตอร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นทายาทของ บริษัท ชนันธร ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ประกอบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
นายณัฐพงษ์ เคยเป็นผู้บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท เมเนจเม้นท์ โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ให้บริการคลาวด์ โซลูชัน ก่อนจะได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส. กรุงเทพฯ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 และ เป็น สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลในปี 2566
“เราเองไม่ได้พุ่งเป้าที่จะเสนอในการแก้ไข มาตรา 112 อย่างเดียว แต่เรามีการเสนอแก้ไขเรื่องของนโยบายอื่น ๆ ด้วย พรรคประชาชนเองไม่ได้มีการพุ่งเป้าใด ๆ ต่อสถาบันการเมืองใด ๆ ก็ตาม เรามีความตั้งใจที่จะนำเสนอนโยบายหลายอย่างที่ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข” นายณัฐพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
หลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ก้าวไกลซึ่งได้ สส. มากที่สุด 151 คน ประกาศรวมเสียง สส. กับอีกเจ็ดพรรค 312 เสียง เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้นายพิธาไม่ได้รับความเห็นชอบ และต้องส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ซึ่งมี สส. เป็นอันดับสอง 141 คน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อ้างว่า ร่วมงานกับพรรคที่เสนอยกเลิก ม. 112 ไม่ได้
“เรื่องของ ม. 112 เป็นหนึ่งใน 300 กว่านโยบายที่เราเสนอ ถ้าเราไปดูถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำ เราพยายามแก้ไขทุกสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาของประเทศนี้ ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเข้าไปทั้งหมด 60 กว่าฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ ยกระดับขนส่ง เรื่องของการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นสัญญาของพรรคการเมืองที่พร้อมจะแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน” นายพริษฐ์ ชี้แจงในการเปิดตัวพรรคประชาชน
ในอดีตประเทศไทยมีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ในปี 2550 พรรคไทยรักไทยซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ด้วยเห็นว่าพรรคกระทำการที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้สมาชิกบางส่วนย้ายไปก่อตั้งพรรคพลังประชาชน และถูกยุบอีกครั้ง จนเกิดพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ขณะที่ พรรคชาติไทย ก็ถูกยุบด้วยข้อหาใกล้เคียงกัน ก่อนสมาชิกพรรคได้ก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ ชาติไทยพัฒนา พรรคไทยรักษาชาติ เคยถูกตัดสินยุบพรรคจากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหากนับตั้งแต่ปี 2550 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบมาแล้วอย่างน้อย 17 พรรค
ทั้งนี้ พรรคประชาชน ยังมีอีกหนึ่งอุปสรรคที่รออยู่คือ กรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไต่สวน ส.ส. อดีตพรรคก้าวไกล 44 คน ซึ่งเคยเสนอแก้ไข ม. 112 ซึ่งหาก สส. กลุ่มดังกล่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงอาจทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย
“เชื่อว่าการยุบพรรคก้าวไกล จะไม่ส่งผลต่อคะแนนนิยม เพราะฐานเสียงของก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน ไม่ได้มาจากกลุ่มการเมืองแบบเก่า หรือตระกูลทางการเมือง ดังนั้น เขาก็พร้อมที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นการสอบสวน สส. 44 คน หากโดนตัดสิทธิจริง ๆ ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนเสียงในสภาระยะสั้น แต่เชื่อว่า ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต” ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีพรรคที่ใช้ชื่อ “พรรคประชาชน” มาแล้วเมื่อปี 2530 แต่ต่อมาพรรคดังกล่าวได้ประกาศยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรครวมไทยในปี 2532 และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีพรรคที่ใช้ชื่อนี้อีก
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน