กรมปศุสัตว์พบเชื้อ ASF ในโรงฆ่าสัตว์รายแรกที่นครปฐม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.11
กรุงเทพฯ
กรมปศุสัตว์พบเชื้อ ASF ในโรงฆ่าสัตว์รายแรกที่นครปฐม คนขายขนเนื้อหมูออกจากรถบรรทุกที่ตลาด ขณะที่ทางการไทยตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในตัวอย่างเนื้อที่เก็บจากโรงฆ่าสัตว์ในกรุงเทพฯ วันที่ 11 มกราคม 2565
รอยเตอร์

กรมปศุสัตว์ เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า มีการตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever-ASF) ในหนึ่งตัวอย่างที่สุ่มตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม แต่ระบุว่า ยังไม่นับเป็นการแพร่ระบาด

การตรวจเชื้อเมื่อสุดสัปดาห์นี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรกล่าวหาว่า รัฐบาลปกปิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการฆ่าสุกรทิ้ง และเกิดการขาดแคลนเนื้อหมู จนทำให้มีราคาพุ่งสูงดุจจรวด ซึ่งโรคนี้ได้มีการระบาดกระจายทั่วเอเชีย ทำให้มีสุกรตายนับล้านตัว 

สพ. สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกันนี้ว่า จากการสุ่มตรวจฟาร์มหมูในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และนครปฐม ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2565 ในฟาร์ม 10 แห่ง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง รวม 309 ตัวอย่าง พบการติดเชื้อ ASF แล้ว 

“ผลการดำเนินการตัวอย่างเบื้องต้น จากจำนวน 309 ตัวอย่าง ผลลบ คือไม่เป็นโรคมี 308 ตัวอย่าง และพบเป็นบวก หรือพบเชื้อ African Swine Fever 1 ตัวอย่าง พบเชื้อบนผิวสัมผัส โรคฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม ตอนนี้ชุดเฉพาะกิจเข้าไปสอบสวนหาที่มาของโรคโดยเร็ว… ขอยืนยันว่า เราไม่ยังไม่มีการพูดว่าระบาด เป็นเฉพาะจุด ซึ่งเราต้องควบคุม” สพ. สรวิศ กล่าว 

ในวันเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 570 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหมูมีราคาแพง 

“อนุมัติงบประมาณประจำปี 2565 ซึ่งเป็นงบกลางจำนวน 574.11 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หรือหมูป่า เป็นค่าใช้จ่ายราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-15 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว และยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล 

นายธนกร ระบุว่า ในปี 2564 มีเกษตรกร 4,941 ราย และสุกร 159,453 ตัว ในพื้นที่ 56 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคในสุกรจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

นอกจากนั้น นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมอบหมายให้กับกรมปศุสัตว์ดำเนินการระบบเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง กำกับดูแลให้เกษตรกร ตลอดจนการควบคุมโรค เช่น ให้มีรั้วรอบฟาร์ม ให้มีจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ASF เป็นต้น ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิจัยพัฒนาวัคซีน ซึ่งปัจจุบัน การพัฒนาคืบหน้าไปแล้ว 60-70 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ในปีนี้ โดยหากสำเร็จจริงจะเป็นประเทศแรกของโลก​ 

ก่อนหน้านี้ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ต้นเหตุของราคาเนื้อหมูแพงมาจากปริมาณสุกรในประเทศไทยที่ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีสุกรจำนวนมากตายจากโรค ASF และโรคสุกรอื่น ๆ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ไม่เคยยืนยันว่า ASF มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย แม้จะมีการระบาดในหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว 

เมื่อสัปดาห์ก่อน กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้ ประเทศไทยงดส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2565 เพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง โดยจากการประเมินเชื่อว่า ปี 2565 ไทยจะมีสุกรเหลือเพียง 13 ล้านตัว แต่ความต้องการในการบริโภคในประเทศยังอยู่ที่ 18 ล้านตัว จากที่ในปี 2564 ไทยมีสุกรมีชีวิต 19 ล้านตัว และมีความต้องการบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว 

ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า กระทรวงเกษตรฯ จะได้ทำการขอความร่วมมือกับฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ให้ขายลูกสุกรให้แก่ผู้เลี้ยงรายย่อย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นมีนโยบายด้านสินเชื่อต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงได้ภายใน 4 เดือน 

ประเทศลาวรายงานตรวจพบเช่นกัน

ส่วนประเทศข้างเคียง ใน สปป.ลาว รายงานว่า ศูนย์วิจัยโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์และประมง กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของลาว ตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด ในบางอำเภอและบางจังหวัดของลาว ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นี่เป็นการระบาดครั้งที่สามในช่วงสองปีที่ผ่านมา ศูนย์กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และขณะนี้ยังไม่สามารถรายงานจำนวนสุกรที่ติดเชื้อได้จริง ตามการระบุของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของลาวรายหนึ่ง ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ ได้ยืนยันกับ เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาลาว สำนักงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ เมื่อวันเดียวกันนี้ ว่า

“ใช่ มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในบางจังหวัดของลาว การระบาดอยู่ภายใต้การควบคุมในขณะนี้ เราได้ห้ามการค้าขายหมูและเนื้อหมูระหว่างจังหวัดและประเทศต่าง ๆ เรายังได้จัดตั้งจุดตรวจ ที่จุดตรวจชายแดนระหว่างประเทศอีกด้วย เราจะคัดออกและทำลายสุกรทั้งหมดที่ติดเชื้อไวรัส”

แก้ปัญหาหมูแพง 

จากการสำรวจของเบนาร์นิวส์ ในวันอังคารนี้ พบว่าราคาขายเนื้อหมูในห้างสรรพสินค้าอยู่ที่ กิโลกรัมละกว่า 220 บาท ขณะที่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 เนื้อหมูมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 160-170 บาท และในเดือนธันวาคม 2563 เนื้อหมูมีราคาอยู่กิโลกรัมละ 130-140 บาท ด้าน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงสุกรได้พยายามตรึงราคาขายสุกรที่หน้าฟาร์มให้ได้กิโลกรัมละ 110 บาท โดยในปี 2563 ราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยกิโลกรัมละ 72 บาท ขณะที่ ปี 2562 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66 บาท 

นางนงลักษณ์ เสน่ห์พูด เจ้าของร้านลาบนครผา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องขึ้นราคาอาหารที่ทำจากเนื้อหมู  

“เราต้องขึ้นราคาอาหาร ลูกค้าก็อาจจะน้อยลง แต่จะให้เปลี่ยนใช้อย่างอื่นแทนหมูก็ทำไม่ได้ หยุดขายก็ไม่ได้ เพราะมีค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถ ค่าเรียนลูก ก็อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไข เพราะช่วงโควิด สามีทำงานรับเหมาก่อสร้าง งานก็น้อยลง” นางนงลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายธนกร ระบุอีกว่า นายกฯ สั่งการให้แก้ปัญหาราคาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง และขอความร่วมมือภาคเอกชนให้หามาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน 

เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาลาว ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง