พิธาลาออกหัวหน้าพรรคก้าวไกล
2023.09.15
กรุงเทพฯ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้วในวันศุกร์นี้ เพื่อหลีกทางให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แทนตนเองที่ยังรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เนื่องจากการถือหุ้นไอทีวี
นายพิธา เปิดเผยทางเฟซบุ๊กว่า ตนได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้
“ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก สส. ที่สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม” นายพิธาระบุ
“ผมขอยืนยันกับทุกท่านว่า ไม่ว่าสถานะของผมจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลและพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังและสุดความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาร่วมกัน” นายพิธา กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการที่สถานภาพ สส. ของนายพิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ จากการถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 4.2 หมื่นหุ้น และสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
คำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทำให้นายพิธาไม่สามารถจะทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ระบุว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าบริหารประเทศจะต้องแต่งตั้ง สส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคที่มีสมาชิกมากที่สุดเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่พรรคนั้นต้องไม่มีสมาชิก เป็นรัฐมนตรี-เป็นประธานและรองประธานสภาฯ
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลจะมีการประชุมวิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 23 กันยายน 2566 โดยยืนยันว่าตนเองไม่ต้องการที่จะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ต่อการลาออกของ นายพิธา ผศ.ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ก้าวไกลอาจต้องสละตำแหน่งรองประธานสภาฯ
“จริง ๆ ก็คิดว่าพิธาลาออกเร็วเกินไป ยังรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อนก็ได้ แต่เชื่อว่าเป็นการจัดการปัญหาระยะสั้น ถ้าเรื่องศาลรัฐธรรมนูญจบแล้ว พิธาอาจกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้” ผศ.ดร. ณัฐกร กล่าว
“ผู้นำฝ่ายค้านที่น่าสนใจ ตอนนี้มีคุณศิริกัญญา ตันสกุล, คุณรังสิมันต์ โรม และคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตามลำดับขั้นจริง ๆ ก็ควรจะเป็นคุณศิริกัญญา เพราะเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่เชื่อว่าพรรคเองก็อยากให้ภาพลักษณ์ของผู้นำฝ่ายค้านมีภาพของการต่อสู้ ซึ่งสองท่านหลังอาจจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน และถึงแม้โรมจะมีอายุน้อยถึงขนาดที่ยังเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ แต่อาจจะกลายมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านก่อนก็เป็นได้” ผศ.ดร. ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น การประชุมพรรคก้าวไกลครั้งหน้า จะทำให้ได้ข้อสรุปเรื่องที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง จะยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ต่อไปหรือไม่ ซึ่งในวันเดียวกันนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จะคุยเรื่องนี้กับกรรมการบริหารชุดใหม่เท่านั้น เพราะกรรมการบริหารไม่มีแล้ว
ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลสามารถได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 โดยมี สส. 151 คน ประกาศจับมือร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย และอีก 6 พรรคการเมือง สามารถรวม สส. ได้ 312 เสียง โดยจะเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน
ตามรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
สิงหาคม 2566 เพื่อไทยสามารถประกาศจัดตั้งรัฐบาลกับภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา, ประชาชาติ, ชาติพัฒนากล้า, เพื่อไทรวมพลัง, เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย และใหม่ มี สส. 314 เสียง โดยยืนยันว่า ในรัฐบาลจะไม่มีก้าวไกลรวมอยู่ด้วย ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. บางส่วนในการเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี และ ครม. ชุดใหม่ได้ประชุมครั้งแรกในวันพุธที่ผ่านมา
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน