พิธาพร้อมถอย หากแพ้โหวตนายกฯ รอบสอง

พรรคก้าวไกลจะยินยอมให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแทน
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2023.07.17
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
พิธาพร้อมถอย หากแพ้โหวตนายกฯ รอบสอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (กลาง) หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จับมือกับ นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังประชุมแนวร่วม 8 พรรค ที่กรุงเทพฯ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566
เอเอฟพี

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองว่า เขาพร้อมจะถอยเพื่อเปิดทางให้พรรคอันดับสองได้จัดตั้งรัฐบาล หากเขาพ่ายแพ้ในการโหวตอีกครั้งในสัปดาห์นี้

ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ รัฐสภาจะมีการประชุมร่วมกันของสองสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

และในวันจันทร์วันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้พิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากการถือหุ้นสื่อสารมวลชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่กระทบต่อการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทั้งแปดพรรคการเมือง มีมติส่งผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยต่อไป” นายพิธา กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังการประชุมร่วมกันของแปดพรรคการเมือง

ทั้งนี้ นายพิธา ยังคงต้องต่อสู้กับสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างมาก และข้อกล่าวหาทางกฎหมาย

เมื่อวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิธา ได้รับการโหวตด้วยคะแนน 324 เสียง โดยเป็นคะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาเพียง 13 คะแนน ขาดอีก 51 คะแนน จึงจะครบกึ่งหนึ่งจากจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา ที่มีรวมกันจำนวน 749 คน ไม่เพียงพอที่จะส่งให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้

สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ รวมถึงผู้นำกองทัพ และข้าราชการบำนาญ ต่างออกเสียงไม่เห็นชอบ งดออกเสียง หรือไม่มาประชุม

“เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ทั้งแปดพรรคการเมืองได้ลงนามไว้ในเอ็มโอยู (บันทึกข้อตกลงร่วม) ผมพร้อมจะถอยให้กับประเทศชาติ ถอยให้กับพรรคอันดับสองที่อยู่ในเอ็มโอยูเดิมในแปดพรรคร่วม ก็คือ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เช่นเดียวกับการยื่นแก้ไขมาตรา 272” นายพิธา กล่าวอ้างถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับสอง ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ นายพิธา ไม่แสดงความเห็นใด ๆ

“ผมไม่มีอะไรต้องเคลียร์” นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวพน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามสื่อมวลชน เมื่อถูกถามถึงข่าวลือว่าจะมีการแยกตัวออกจากพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทย พร้อมเสนอชื่อแคนดิเดตเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 รายชื่อ ประกอบด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาพรรคฯ และนายชัยเกษม นิติศิริ ที่ปรึกษาพรรคฯ หากนายพิธา พ่ายแพ้ต่อการโหวตเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก

โอกาสริบหรี่

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พรรคก้าวไกลร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับพรรคการเมืองอีกเจ็ดพรรค ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม

พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พรรคพันธมิตรร่วมกับพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยอมรับว่า ตนได้เชิญพรรคการเมืองอีกสองพรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส. จำนวน 25 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี ส.ส. จำนวน 10 คน ที่เคยร่วมในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งสองระบุว่า ขอหารือในที่ประชุมพรรคของตนก่อน

นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้จะได้ที่นั่งจากสองพรรคนี้มาเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับคะแนนที่ต้องการอีก 51 เสียง ขณะที่การจะเชิญพรรคทางเลือกอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่มีจำนวน ส.ส. มากถึง 71 เสียง เป็นไปไม่ได้

“โอกาสที่นายพิธาจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรียังดูห่างไกลจากความเป็นจริง” ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

“การโหวตครั้งถัดไปอีกไม่กี่วัน พรรคร่วมฯ จะหวังให้ ส.ว. เปลี่ยนใจ ก็ยังมองว่าเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เสียงถึง 50 กว่าเสียง ถ้าจะหวังกับ สส. ซึ่งก็มีเพียงพรรคเดียวที่เสียงถึงคือภูมิใจไทย แต่ก็ชัดเจนมากเช่นกันว่าเขาไม่เอากับก้าวไกลแน่ๆ”

ดร. ณัฐกร ยังระบุด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยแพ้การโหวตในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โอกาสที่พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคจะแตกกันมีสูง

“ที่น่าสนใจคือหลังจากที่มีการเสนอชื่อจากฝั่งเพื่อไทยแล้วยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีอีก ก็มีโอกาสที่ทั้ง 8 พรรคร่วมจะแตกกันสูง” ดร.ณัฐกร ระบุ

“อาจมีการสลับขั้วย้ายข้างกันใหม่ และพรรคที่มีเงื่อนไขไม่เยอะก็อาจจะสลับขั้วง่ายขึ้นไปอีก เพราะประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยยิ่งอธิบายได้ว่า นี่ไง พรรคนี้ไม่มีลุงแล้ว” ดร. ณัฐกร อ้างถึงจำนวน ส.ส. จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำหลักในการก่อการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังคงอยู่ในอำนาจมากว่า 9 ปี แต่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และล้างมือจากวงการการเมืองไทย

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม นายอานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือ ขอให้เคารพมติของประชาชน เคารพเสียงข้างมากที่ออกมาเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะกระตุ้จิตสำนึกของทั้ง ส.ว. และ ส.ส.

ต่อมานายอานนท์ พร้อมแกนนำม็อบราษฎร และกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนก้าวไกล ร่วมชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ทำกิจกรรมเร่งเครื่องตามเส้นทางคาร์ม็อบและมอเตอร์ไซค์ม็อบ เพื่อเอาใบลาออกไปยื่นให้ ส.ว. 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ไม่เข้าร่วมประชุมโหวตนายกฯ เริ่มจากถนนราชดำเนิน ไปยังกองบัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาจบที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ฯ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง