นายกฯ ยืนยัน น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ ซ้ำรอยปี 54

ครม. เคาะจ่าย 9,000 บาท ต่อครัวเรือน บวกค่าล้างโคลนอีก 10,000 บาท
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.10.08
กรุงเทพฯ
นายกฯ ยืนยัน น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ ซ้ำรอยปี 54 ประชาชนเดินลุยฝ่าน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 6 ตุลาคม 2567
เอพี

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่า กรุงเทพฯ จะไม่ถูกน้ำท่วมหนักเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจ่ายค่าเยียวยาผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท และค่าล้างโคลนหลังละ 10,000 บาท

“กทม. น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 แน่นอน เพราะฉะนั้นเนี่ย แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะ ไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ได้คุยกับ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ตลอด รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อน การปล่อยน้ำก็พยายามให้ไม่กระทบกับพี่น้องประชาชน” น.ส. แพทองธาร กล่าว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยามีศักยภาพในการรับน้ำได้กว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เมื่อปี 2554 มีศักยภาพรับน้ำเหลือเพียง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าในระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม–8 ตุลาคม 2567 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 44 จังหวัด ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบ 241,482 ครัวเรือน สำหรับการเยียวยา น.ส. แพทองธาร ระบุว่า จะมีการจ่ายแบบเหมาจ่ายเท่ากันหมดทุกหลังคาเรือน

“เหมาจ่ายอัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้วงเงินเดิม ตามมติ ครม. 17 กันยายน นั่นคือ 3,045 ล้านบาท แล้ววันนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ” นายกรัฐมนตรี กล่าว 

ในประเด็นเดียวกัน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเยียวยาเหมาจ่ายดังกล่าว เป็นส่วนที่นอกเหนือจากการเยียวยากรณีที่บ้านพังเสียหาย และบาดเจ็บล้มตาย

“พี่น้องประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับในเกณฑ์เดียวคือ 9,000 บาท ซึ่งไม่รวมถึงกรณีที่บ้านพังทั้งหลัง ไม่รวมการบาดเจ็บล้มตาย และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย” นายจิรายุ กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ครม. อนุมัติมาตรการเยียวยา กรณีที่บ้านประชาชนเสียหายตั้งแต่ 70% ขึ้นไป จะจ่าย 2.3 แสนบาทต่อหลัง และจะจ่ายค่าชดเชยในกรณีอื่นด้วย 

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปภ. จะจ่ายค่าล้างโคลนสำหรับบ้านที่ประสบอุทกภัย ซึ่งหน่วยราชการไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือในการล้าง

“จากนี้ไป ปภ. ก็จะไปสำรวจ แล้วก็ทำการเยียวยาชำระค่าล้างโคลน ล้างดิน ในพื้นที่ประสบภัย ได้บ้านละ 10,000 บาท ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเยียวยา ซึ่งครม. อนุมัติเหมาจ่าย 9,000 บาท เจ้าของบ้านเขาต้องทำเอง (ล้างโคลน) หรือจ้างคน เริ่มจ่ายได้เลย เพราะตรงนี้เราใช้ในส่วนของเงินทดรองผู้ประสบภัย” นายอนุทิน กล่าว

ปัจจุบัน ยังคงประสบอุทกภัยใน 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสงขลา ประชาชนได้รับผลกระทบ 66,202 ครัวเรือน

ขณะเดียวกัน นพ. สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยว่า “มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 60 ราย บาดเจ็บสะสม 2,381 ราย ไม่มีผู้สูญหาย มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 105 แห่ง ปิดให้บริการ 12 แห่ง ในพื้นที่เชียงใหม่ และพิจิตร” 

สำหรับกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรได้สรุปผลกระทบไว้ว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 65 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4.03 ล้านครัวเรือน 13.42 ล้านคน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ และถนนเสียหาย 1.39 หมื่นสาย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง