เศรษฐาร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐฯ 18-24 ก.ย. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.09.18
กรุงเทพฯ
เศรษฐาร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐฯ 18-24 ก.ย. นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โบกมือทักทายผู้สื่อข่าวขณะเดินร่วมกับสมาชิกคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 6 กันยายน 2566
เอเอฟพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกาแล้วในวันจันทร์นี้ เพื่อร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยพร้อมวางตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงความสัมพันธ์เข้าหาทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน

ก่อนเดินทาง นายเศรษฐา ได้กล่าวในเวทีไทยรัฐฟอรั่ม 2023 เมื่อวันอาทิตย์ว่า ประเทศไทยจะพยายามวางตัวเป็นกลางด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่มีความขัดแย้งกันอยู่

“เรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาประมาณ 190 ปี แล้วก็ประเทศจีน เราก็มีเชื้อสายคนจีนที่มาอยู่ที่นี่เยอะ ตัวผมเองก็เป็นคนจีนเหมือนกัน มีการค้ากันอย่างเยอะ แล้วก็เป็นภาคส่วนที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต เราต้องเมนเทนความเป็นกลาง เราต้องไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ตรงนี้เป็นจุดยืนที่สำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันจันทร์นี้ว่า นายเศรษฐา จะใช้โอกาสการประชุมสหประชาชาติ ในระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 เพื่อสานสัมพันธ์กับนานาชาติ

นายชัย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะพูดคุยทวิภาคีกับตัวแทนจากบางประเทศ 3-4 ประเทศ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ และปฏิเสธที่จะตอบสื่อมวลชนที่ถามว่า จะได้พูดคุยกับตัวแทนประเทศเยอรมันเรื่องการจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ซึ่งไทยทำสัญญาซื้อจากประเทศจีนหรือไม่ 

“ท่านนายกฯ ก็หวังว่าจะใช้โอกาสนี้ไปแสดงวิสัยทัศน์ ให้นานาชาติได้มองเห็นภาพพจน์ของประเทศไทยผ่านวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ” นายชัย กล่าว

นายกรัฐมนตรี ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำในเวลา 16.00 น. ของวันจันทร์พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคณะ

ในการเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ นายเศรษฐาจะกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ที่การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และกล่าว Welcoming Remarks ในกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงของประเทศไทยและอาเซียน ในหัวข้อ “Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN” ซึ่งประเทศไทยและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

นายกรัฐมนตรี จะมีการกล่าวในกิจกรรมระดับผู้นำ Climate Ambition Summit และการเข้าร่วมการประชุม High-level Meeting on Global Development Initiative (GDI) Cooperation Outcome และจะมีการหารือกับภาคธุรกิจในสหรัฐอเมริกา และภาคธุรกิจจากประเทศอาเซียน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐากิจของประเทศไทย

ต่อประเด็นความสัมพันธ์กับ นานาชาติ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ไทยควรระมัดระวังในการแสดงออกทางความสัมพันธ์กับประเทศใดประเทศหนึ่ง

“เราต้องระมัดระวังในเรื่องของนโยบายต่างประเทศกับนโยบายป้องกันประเทศ เพราะไทยเป็นจุดตัด ทั้งอินโดแปซิฟิก ทั้งสายแถบและเส้นทาง ถนนของจีนมันเลาะเลื้อยเข้ามาที่ไทย แต่ขณะเดียวกันทะเลอันดามัน ของประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ส่วนอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว

“ในอาเซียน ไทยควรทำการทูตเชิงรุกมากขึ้น ขยายเขตยุทธศาสตร์มากขึ้น เช่น พูดคุยกับจีนเรื่องลดปัญหายาเสพติดลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำโขง เพื่อบริหารอำนาจต่อรอง เพราะที่ผ่านมา เราไม่มีแผนวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์แบบอินโดนีเซียที่วางตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถ้าเราไม่เริ่มทำเกมรุก อนาคตเราอาจก้าวตามประเทศใหญ่ๆในอาเซียนไม่ทันเช่นกัน” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า การเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติของนายเศรษฐาเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทย

“เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง UN และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ประการที่สอง เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร. เอียชา กล่าว

“สัมพันธ์ไทยจีน รัฐบาลใหม่น่าจะยังคงดำเนินไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่มองอีกมุมรัฐบาลใหม่ก็อาจให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้ ไทยควรหาแนวทางในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งจีนและอเมริกา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยและความมั่นคงของภูมิภาค เวทีนี้ก็อาจเป็นโอกาสดีที่จะใช้เป็นช่องทางเพื่อร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อกดดันกองทัพพม่าให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน” ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง