นายกฯ สั่ง ต่อศักดิ์ คืนตำแหน่ง ผบ.ตร.
2024.06.20
กรุงเทพฯ

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีนี้ ให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับไปทำหน้าที่ตามเดิม กรณีความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ระบุด้วยว่า ผลการสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้ชี้ว่ามีผู้ที่ถูกหรือผิด แต่พบเห็นความยุ่งเหยิงขององค์กรตำรวจที่ความขัดแย้งมีในทุกระดับ ขณะที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังอยู่ในสถานะออกจากราชการไว้ก่อน
นายวิษณุ แถลงข่าวในเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 119/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 โดยระบุว่า ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีความขัดแย้งจนเป็นเรื่องฟ้องร้องขึ้นจริง
“เห็นควรส่ง (พล.ต.อ. ต่อศักดิ์) กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรสอบสวนอีกแล้ว ที่ให้มาอยู่ทำเนียบฯ ก็เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อการสอบสวนเสร็จแล้ว หรือหากคดียังไม่เสร็จ คดีก็ไปอยู่ในมือ ป.ป.ช. จึงไม่รู้จะให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ อยู่ที่นี่ไปทำไม ก็เลยส่งกลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่เดิม” นายวิษณุ กล่าว
กรณีที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ย้าย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เข้าไปช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี หลังเกิดกรณีพิพาทภายใน สตช. โดยนอกจากการสั่งย้าย นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แม้ทั้งคู่จะพยายามยืนยันมาตลอดว่า “ไม่มีความขัดแย้ง”
ระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ พล.ต.อ. กิตติรัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. รักษาราชการตำแหน่ง ผบ.ตร. แทน ต่อมา 18 เมษายน 2567 มีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สตช. ตามเดิม แต่ก็มีคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนระหว่างการสอบสวน
“กรณีของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ตาม พรบ. ตำรวจฉบับใหม่ การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องทำโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงแนะนำให้ไปแก้ไขให้ถูกต้อง สถานภาพของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างการนำกราบบังคมทูลฯ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องตรวจสอบว่าถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายหรือไม่” นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติม
หลังคำสั่งในวันพฤหัสบดีนี้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ ต่อสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ระบุด้วยว่า ผลการสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้ชี้ว่ามีผู้ที่ถูกหรือผิด แต่พบเห็นความยุ่งเหยิงขององค์กรตำรวจ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าแต่ละเรื่องอยู่ในอำนาจตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับการทุจริต จึงให้หน่วยงานกระจายคดีไปรับผิดชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับทราบผลการตรวจสอบทั้งหมดจึงมอบหมายให้ตนเองมาแถลงและส่งมอบคดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรณีความขัดแย้งใน สตช. สืบเนื่องจากการที่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค. ในขณะนั้น) ได้นำตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพัก และจับกุมลูกน้องคนสนิทสองคนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยอ้างว่า เป็นการขยายผลการจับกุมเว็บพนันเครือข่าย มินนี่-น.ส. ธันยนันท์ สุจริตชินศรี โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยืนยัน ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนัน
การจับกุมครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ไม่ถึงหนึ่งเดือน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตด้วย แต่ท้ายที่สุด พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลายเป็นผู้ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ไป แม้มีอาวุโสด้านงานตำรวจน้อยกว่า จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า การบุกค้นบ้านนั้นอาจเป็นการเมืองภายใน สตช.
“เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวพันกับบุคคล 2 คน ทีมงานก็พลอยเกิดความขัดแย้งไปด้วย คดีที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้ ก็คือคดี 140 ล้าน หรือคดีเป้รักผู้การฯ เท่าไหร่ คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค มีคดีย่อยอีก 10 กว่าคดี ตาม สน.ต่าง ๆ และในศาลคดีอาญาทุจริต ภาค 7 และส่วนกลาง ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด บางเรื่อง 10 ปีมาแล้ว” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุในวันพฤหัสบดี
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ เปิดเผยว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ และถูกส่งฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ต่อความขัดแย้งดังกล่าว นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำลายภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย
“เราอาจเห็นความแตกแยกในองค์กรตำรวจมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างมีกลุ่มสนับสนุน รัฐบาลในฐานะตัวกลางต้องเร่งสร้างความปรองดอง รัฐบาลต้องผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริงด้วย เพื่อลดความหวาดระแวงภายในและเรียกศรัทธาจากประชาชน ไม่อย่างนั้นแล้วศึกครั้งนี้มันจะกลายเป็นแค่การยื้อเวลาเฉยๆ และท้ายที่สุดก็จะมีผู้เล่นใหม่ๆ ที่สร้างปัญหาให้กับวงการตำรวจอยู่ดี” นายวรชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
หลังมีชื่อเป็นผู้ต้องหา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังการดำเนินคดีกับตนเอง และต่อมาได้ให้ทนายความไปฟ้องร้อง พล.ต.ต. จรูญเกียรติ รวมทั้งยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนการทุจริตของตำรวจกว่า 200 คน ทั้งยังฟ้องนายกรัฐมนตรีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ก่อนที่จะถอนฟ้องนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
อีกด้านหนึ่งต้นเดือนเมษายน 2567 นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และภรรยา ในข้อหาฟอกเงิน ซึ่งกรณีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย
“ผลการสอบวันนี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ หากขาดความชัดเจน โปร่งใส เพราะคดีนี้เป็นที่จับตาของสังคม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง ปราศจากการแทรกแซง และพร้อมสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ก็คือท่าทีของ ผบ.ตร.” นายวรชาติ กล่าวเพิ่มเติม