ประยุทธ์ประกาศร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติชิงเก้าอี้นายก
2022.12.23
กรุงเทพฯ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า ตนจะย้ายจากพรรคพลังประชารัฐไปร่วมงานทางการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากที่ได้รับทราบจากทางพรรครวมไทยสร้างชาติว่า จะเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยอนาคตทางการเมืองของตนเองเป็นครั้งแรกกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐถึงการย้ายพรรคแล้ว
“วันนี้ ก็ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เสนอมาแล้วว่ายินดีสนับสนุนผมในการเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
“แต่วันนี้พลังประชารัฐก็ได้มีการตกลงใจในการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ได้ตัดสินใจวันนี้แล้วกัน จริง ๆ ก็ได้เตรียมการไว้พอสมควรแล้วแหละ ว่าจะไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเหตุผลในการประกาศการตัดสินใจทางการเมืองของตนในวันนี้
ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
พลเอก ประยุทธ์ ซึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาสองสมัย หลังจากการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 ได้เผชิญกับแรงเสียดทานภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค
ในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ พยายามรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ออกเสียงไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จนทำให้ต่อมา ร.อ. ธรรมนัส ถูกปลดออกจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต่อมาในเดือนมกราคม 2565 ถูกขับออกจากพรรคพร้อมด้วยเพื่อน ส.ส. ร่วมพรรคกว่าสิบชีวิต
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนรายงานว่า ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 13 คน และจากพรรคอื่น ๆ รวมเป็นทั้งหมด 34 คน ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งการเลือกตั้งใน 2562 ได้ที่นั่ง ส.ส. 51 ที่นั่งเป็นลำดับที่ 5 จะมีโอกาสได้ ส.ส. มากขึ้นในสมัยหน้า
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 30 สิงหาคม 2565 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
เหตุการณ์เหล่านี้ ได้ทำให้มีข่าวลือกระจายไปว่า พล.อ. ประยุทธ์ ขัดแย้งกับ พล.อ. ประวิตร ซึ่งผู้สันทัดกรณีกล่าวว่ามีความสนิทสนมกับ ร.อ. ธรรมนัส จนทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ อาจจะต้องย้ายพรรค ซึ่งปรากฏเป็นความจริงชัดเจนในวันศุกร์นี้
ผู้สื่อข่าวจึงพยายามสอบถามว่า การย้ายพรรคครั้งนี้จะกระทบความสัมพันธ์กับ พล.อ. ประวิตร พี่ใหญ่แห่ง 3 ป. หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ตอบว่า จะไม่กระทบความสัมพันธ์ที่มีกันมาอย่างยาวนาน
“ผมอาจจะมีความจำเป็นอะไรต่าง ๆ ก็กราบเรียนกับท่านไปหลายครั้งแล้วล่ะ... ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีความขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น ผมไม่ได้จากกันไปไหนนี่ ก็ยังพูดคุยกันอยู่เหมือนเดิม อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหารด้วยกันมันลึกซึ้งกว่า” พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ
ในวันเดียวกันนี้ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันตนได้พูดคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ในเรื่องนี้ และแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงเพียงปี 2568 ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของ พล.อ. ประยุทธ์
“วันนี้ ลุงตู่ (พล.อ. ประยุทธ์) ตัดสินใจอยู่ต่อ นายกฯ อยู่ต่อได้เพียง 2 ปี ก็ไม่เป็นอุปสรรค สำหรับผมการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองไม่มีกำหนดเวลา เงื่อนไข 2 ปี เพียงแค่ห้ามเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้ห้ามทำงานการเมือง ที่สำคัญคือ ท่านจะใช้เวลา 2 ปี ในตำแหน่งนายกฯ ช่วยสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่” นายพีระพันธ์ กล่าวในการแถลงข่าวที่พรรครวมไทยสร้างชาติ
โพล: คะแนนนิยมประยุทธ์ตามหลังคู่แข่ง
พล.อ. ประยุทธ์ เข้าสู่เส้นทางการเมืองหลังจากยึดอำนาจการปกครองในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ถูกพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 และสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้จริงด้วยเสียงสนับสนุนของ ส.ว. ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างในยุคคสช.
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 กลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยนิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยังโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ ว่าล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด เมื่อนับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี
เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ ผลสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล (NIDA POLL) พบว่า ร้อยละ 32.44 ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,310 ตัวอย่าง เห็นว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งมีแกนนำสำคัญ คือ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และ น.ส. แพทองธาร “อุ๊งอิ๊ง” ชินวัตร ที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค “ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน”
ขณะที่ ร้อยละ 11.00 ระบุว่า พรรคก้าวไกล (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) “ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน” ตามมาด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ที่ร้อยละ 10.76 และ พรรครวมไทยสร้างชาติ (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค/พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ร้อยละ 5.73
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยซุเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,028 ตัวอย่างในคำถามที่ว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเชื่อมั่นช่วยแก้ปัญหาปากท้อง” และ “ผู้นำพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล” พบว่า 50.7 และ 47.8 เปอร์เซ็นต์ เชื่อมั่นในตัว นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยรองลงมาเชื่อมั่น น.ส. แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และนายจุรินทร์ ลักษณะวิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ตามลำดับ โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับความเชื่อมั่นเพียง 19.8 และ 17.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยแก่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10 กันยายน 2565 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
นักวิเคราะห์เห็นแตกต่าง
ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชื่อว่าแม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะย้ายจากพลังประชารัฐ ไปร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ ไม่น่าจะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม
“เชื่อว่าการประกาศแบบนี้ก็ไม่น่าจะนำไปสู่ความแตกแยกระหว่าง พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ เพราะทั้งคู่ถือเป็นพรรคสายทหาร ที่ได้อำนาจจากการรัฐประหาร ถ้ามองจริง ๆ ก็เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวประยุทธ์อยู่ คะแนนนิยมที่ลดลงของประยุทธ์ในตอนนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนขั้วอำนาจหลังการเลือกตั้ง” ดร. ฐิติพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นต่างออกไปโดยชี้ว่า การย้ายพรรคครั้งนี้สะท้อนถึงความแตกแยกของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม
“ประชาชนจะเห็นแล้วว่าขั้วอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มแตกกลุ่ม แตกเสียงกันจริงจัง แต่ผลการเลือกตั้งยังคาดเดายาก เพราะคนที่ตั้งรัฐบาลอาจเป็นได้ทั้งฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายค้านปัจจุบัน” น.ส. นวพร กล่าว
ส่วนนายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยสังคมศาสตร์ สถาบันแมกซ์ แพลงค์ เยอรมัน มองว่าโอกาสกลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ยากมากที่ประยุทธ์จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพรรคใหม่ ส่วนตัวมั่นใจว่าหากพรรคเพื่อไทยสามารถได้ที่นั่งในสภาพอสมควร รวมกับพรรคก้าวไกล ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า คุณพิธาจะกลายมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล” นายพิทธิกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า ยังมองว่าพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งสมัยหน้า
“ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะเป็นพรรคเช่น ภูมิใจไทย ที่เห็นความพยายามในการสร้างฐานอำนาจเพื่อต่อรอง และมีการดึง ส.ส. จากพรรคอื่นให้ย้ายเข้าไปร่วมกับพรรคตนเองจำนวนมาก” ดร. ฐิติพลกล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน