ประยุทธ์ปฏิเสธขัดแย้งภูมิใจไทย หลัง 7 รัฐมนตรีไม่ร่วมประชุม ครม.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.02.09
กรุงเทพฯ
ประยุทธ์ปฏิเสธขัดแย้งภูมิใจไทย หลัง 7 รัฐมนตรีไม่ร่วมประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการแถลงข่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 22 กันยายน 2563
รอยเตอร์

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวันพุธนี้ว่า ตนเองไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทย แม้ว่า 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ได้ลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันในวันอังคาร เพื่อคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้านพรรคภูมิใจไทยชี้แจงว่า การคัดค้านโครงการรถไฟฟ้าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามของสื่อมวลชนถามเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

“ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน ทุกคนก็มีความเห็น ผมก็ทำให้ทุกคน ขึ้นอยู่กับเหตุกับผล และข้อกฎหมายที่มีอยู่ ไม่เป็น(ปัญหา)หรอก จะเป็นได้ไง ไม่ใช่เรื่อง” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

ต่อคำถามที่ว่า หากว่าทางรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย ในการประชุมถัดไปจะมีผลอย่างไร พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็เป็นเรื่อง ครม. ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ แต่ถ้าชี้แจงได้ในที่ประชุม แล้วที่ประชุมเห็นชอบ ก็เป็นเรื่องของการดำเนินการ ก็ตัดสินใจร่วมกัน”

รถไฟฟ้าสายสีเขียว 67.45 กิโลเมตร เดิมเปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต-อุดมสุข บริหารงานโดย บริษัท บีทีเอส แต่ภายหลังมีส่วนต่อขยาย คือ ช่วงสถานีแบริ่ง-เคหะฯ และคูคต-หมอชิต ซึ่ง กทม. เป็นเจ้าของแล้วจ้างบีทีเอส จัดการการเดินรถ และก่อสร้าง แต่กทม. ค้างจ่ายค่าจ้างบีทีเอส เป็นเวลา 9 หมื่นล้านบาท โดยอายุสัญญาสัมปทานเดิมจะหมดในปี 2572 จึงได้มีการเสนอต่อสัญญาออกไปเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยสัญญาสัมปทานใหม่ถึงปี 2602 และให้ใช้ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย โดยบีทีเอสจะเป็นผู้รับภาระหนี้จาก กทม.

“ถ้าพูดแล้วเส้นสีเขียวเป็นเส้นแรกของประเทศไทย… ผมยืนยันไม่เอื้อผลประโยชน์ใครทั้งสิ้น ผลประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ ทำยังไงเราจะไม่เพิ่มภาระหนี้สาธารณะเพิ่มเติมขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารที่ผ่านมา รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย 7 คน ซึ่งรวมถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลาการประชุม ครม. โดยมีเอกสารชี้แจงในภายหลังว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับการหารือในวาระพิจารณาต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว

“ตามที่ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งเชิญประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2565 ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทําเนียบรัฐบาล โดยมี ระเบียบวาระการประชุมตามอ้างถึง นั้นอ้างตามวาระเรื่องเพื่อพิจารณา ลําดับที่ 3 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอเรียนว่าไม่เห็นด้วยกับการดําเนินการของกรุงเทพมหานคร” นายอนุทิน ระบุในหนังสือ

ซึ่งนายศักดิ์สยาม ระบุในหนังสือว่า “กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย”

การลาประชุมครม. ถึง 7 คน ถือว่าเป็นการลาที่มีจำนวนคนมากที่สุดของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ในปี 2565 ทำให้ในวันอังคารที่ผ่านมา ครม. ได้ชะลอการลงมติวาระสัมปทานรถไฟฟ้าไป โดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ระบุว่า จะได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดของวาระดังกล่าว และเสนอเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565

ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส. สงขลา ในฐานะรองโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงที่อาคารรัฐสภาในวันพุธว่า การเสนอวาระพิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าอย่างกระทันหัน เป็นเหตุให้รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยคัดค้านการร่วมประชุม

“ไม่ใช่ปัญหา ผมคิดว่าน่าจะคุยกันได้ ผมคิดว่า มุมมองของท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ หรือว่ารัฐมนตรีภูมิใจไทยมองเป็นผลประโยชน์ของประชาชน… วาระมาวันจันทร์ ไม่ทันได้ตั้งตัว อยู่ ๆ มาวันอังคารจะเข้าไปพิจารณาเลย ทีนี้การเข้าสู่การพิจารณา ครม. โดยการพิจารณา ด้วยความเกรงใจ เหมือนกับมัดมือชก ทีนี้จะให้ผ่านไปด้วยความเกรงใจ มันจะลำบากในอนาคต น่าจะมาตั้งหลักก่อน อันนี้คือหลักการ” นายณัฏฐ์ชนน กล่าว

เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน?

เมื่อเกิดกรณี รัฐมนตรีลาประชุม ครม. ประกอบกับปัญหาองค์ประชุม สภาผู้แทนราษฎรไม่ครบ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “สภาล่ม” เป็นครั้งที่ 16 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน และอาจอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี

ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจยังไม่มีนัยสำคัญถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

“ผมมองว่าการไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย เป็นการต่อรองผลประโยชน์มากกว่า ไม่สามารถนับเป็นสัญญาณการล่มของรัฐบาล กรณีคุณธรรมนัส (พรหมเผ่า) ที่แยกออกมาจากพลังประชารัฐ ก็เป็นการสร้างอำนาจต่อรองผลประโยชน์ งบประมาณ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ การหาเสียง การทำนโยบาย” ดร. ฐิติพล กล่าว

“ยังมองว่าเป็นแค่เกมการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ไม่น่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียเสถียรภาพอย่างสิ้นเชิง การที่สภาล่ม ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบรัฐบาลมากนัก ยกเว้นนโยบายสำคัญ หรือกฎหมายที่สำคัญ ก็อาจจะมีผลบ้าง”​ ดร. ฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส. อีก 20 คน เพิ่งถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่ ร.อ. ธรรมนัส มีปัญหาขัดแย้งกับ พล.อ. ประยุทธ์ และถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในปี 2564 ทำให้ปัจจุบันเสียง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ จากเดิมที่มี 117 เสียง ลดเหลือ 96 เสียง ทำให้มีกระแสวิพากษ์-วิจารณ์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหากับเสถียรภาพของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง