พลเอก ประยุทธ์ เผชิญความท้าทายรอบด้านก่อนเลือกตั้งสมัยหน้า
2022.07.22
กรุงเทพฯ
แฟนเพจ “เปรี้ยง” ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลเผยแพร่โปสเตอร์เลียนแบบหนังเจมส์ บอนด์ “008 พยัคฆ์ร้าย ไม่มีวันตาย” ที่มีภาพ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน ก่อนทั้งหมดจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในระหว่างวันอังคารถึงศุกร์นี้ จนเป็นที่ฮือฮากันทางโลกอินเทอร์เน็ต
"ถ้าไม่ตายในสภาก็ตายในสนามเลือกตั้ง" นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวท้าทายรัฐบาลผ่านทางผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา วัย 68 ปี ที่ในครั้งที่ยังเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก ได้รัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ ปี พ.ศ. 2557 กำลังเผชิญกับการท้าทายหลายประการ รวมทั้งจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเอง
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ พลเอก ประยุทธ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเมื่อ พ.ศ. 2562 พลเอก ประยุทธ์ต้องลุกขึ้นตอบโต้ข้อกล่าวหา ที่ว่ารัฐบาลมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง และไม่มีการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยมีพรรคร่วมรัฐบาล 17 พรรคเป็นทัพหลัง ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการกำหนดการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2566
พลเอก ประยุทธ์เพิ่งเปิดเผยในเดือนนี้เองว่า ตนเองมีความสนใจที่จะทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ในวาระที่ 2 โดยบอกกับผู้สนับสนุนว่า โครงการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะผลิดอกออกผล ภายในเวลาสองปีนี้ และขอการสนับสนุนจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเมืองวงใน กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของ 3ป อาจจะต้องการขึ้นแทน พลเอก ประยุทธ์ก็ได้ เพื่อให้มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้น
ผมไม่ได้รัฐประหาร
ในวันที่สองของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคล ฝ่ายค้านซักถาม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการยึดอำนาจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใน พ.ศ. 2557 หรือไม่
“เรื่องของปฏิวัติเนี่ย ผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ” พลเอก ประวิตร กล่าวตอบ ส่วน พลเอก ประยุทธ์ได้ยกมือขึ้นเป็นการรับลูก ด้วยท่าทีภาคภูมิใจ ท่ามกลางเสียงหัวเราะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล
“ท่านนายกนี่คนเดียว ท่านอนุพงศ์ท่านก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง คุณก็เอาผมไปเกี่ยวข้อง เออ... ผมยังไม่รู้เลยว่าจะปฏิวัติเมื่อไหร่ สามปอ สามเปอ อะไรพูดไปเรื่อย เอาเรื่องจริงเข้าว่าดีกว่าครับ” พลเอก ประวิตรกล่าว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก อนุพงศ์ เผ่าจินดา และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สามพี่น้อง “บูรพาพยัคฆ์” ต่างเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วทั้งสามคน ซึ่งประชาชนเชื่อว่า เป็นแกนนำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา สื่อมวลชนรายงานว่า ได้เกิดรอยร้าวใน สาม ป. โดยเฉพาะระหว่าง พลเอก ประยุทธ์ และพลเอก ประวิตร ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งในกระทรวงใดกรทรวงหนึ่งโดยตรง เมื่ออยู่ต่อหน้าธารกำนัลทั้ง สาม ป. ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดี ซึ่งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ครั้งที่สามเมื่อปีที่แล้ว พลเอก ประวิตรกล่าวว่า จะมีความตายเท่านั้นที่แยกทั้งสามจากกันได้
ในเวลาต่อมา ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นมือขวาของ พลเอก ประวิตรโดนเตะออกจากตำแหน่ง หลังจากที่พยายามล่าเสียงโหวตไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ในครั้งนั้น
และในเดือนนี้ ร.อ. ธรรมนัสพร้อมด้วยลูกพรรค 15 คน ยกก๊วนออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และประกาศว่าจะโหวตคว่ำ พลเอก ประยุทธ์ แต่ยังมีคะแนนน้อยเกินไปจึงได้ไปชวน “กลุ่ม 16” ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเล็กพรรคน้อยที่รวมตัวกันหลวม ๆ เพื่อขอให้ร่วมโหวตคว่ำ พลเอก ประยุทธ์
“เสถียรภาพของประยุทธ์ ต่อพรรคของเขาเอง หรือแม้แต่ในวิปรัฐบาลนั้นไม่สู้ดีนัก อันนี้เราน่าจะเริ่มเห็นภาพมาสักพักแล้ว ทั้งความนิยมที่ต่ำลง และสายสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ก็ระหองระแหง” ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ฝ่ายค้านได้ถือโอกาสถล่มว่า พลเอก ประยุทธ์บริหารราชการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมทั้งเรื่องสาธารณสุข การกู้ยืมหนี้ และอื่น ๆ
“พลเอก ประยุทธ์ไร้ความชอบธรรมตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ ซ้ำยังใช้อำนาจที่ขาดความชอบธรรมการบริหารประเทศ ถ้าเป็นแบรนด์สินค้าก็ไม่ใช่แบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวปกป้องตนเอง โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยถูกทำลายตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลก่อน ๆ ขณะที่ตนเองได้ช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว และให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับประชาชนและวงการธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงการเกิดปัญหาโควิด
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากว่า 40 ครั้ง ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา นายตุลสถิตย์ ทับทิม นักจัดรายการการเมืองของช่องไทยพีบีเอส กล่าว
ภาพ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้อเลียนธีม เจมส์ บอนด์ “008 พยัคฆ์ร้าย ไม่มีวันตาย”ของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล โพสต์ในเฟซบุ๊ก วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 (เฟซบุ๊ก เปรี้ยง)
ส่วนนักวิเคราะห์เชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์มีแนวโน้มที่จะรอดตัวจากการอภิปรายในครั้งนี้ เพราะว่ามีเสียงสนับสนุน 253 เสียง ในขณะที่ฝ่านค้านมีเสียงสนับสนุนเพียง 224 เสียง แต่มีกระแสข่าวว่ารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลบางรายอาจจะโดนโหวตให้ออก และ พลเอก ประยุทธ์ต้องปรับคณะรัฐมนตรี
ด้านนักวิจัยทางด้านการเมืองเอง ก็เห็นเช่นกันว่าฝ่ายค้านคงไม่ประสบความสำเร็จ แต่เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมีประโยชน์ต่อฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งหน้า การลงคะแนนเสียงในวันเสาร์นี้ จะเป็นตัวชี้วัดถึงความแตกแยกภายในรัฐบาลว่ามีจริงหรือไม่
ภัยคุกคามจากนอกพรรค
ได้มีการประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ ที่ด้านหน้านอกรัฐสภาเพื่อกดดันให้ ส.ส. โหวตคว่ำ พลเอก ประยุทธ์ โดยกลุ่มผู้ประท้วงเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวในการประท้วงรัฐบาลมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งในช่วงที่การต่อต้านรัฐบาลกำลังพีคสุด ได้มีผู้ลงนามเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
จากนั้นการประท้วงได้อ่อนกำลังลง หลังจากที่รัฐบาลได้ฟ้องร้องแกนนำผู้ประท้วงกว่า 200 คน ด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์และยุยงปลุกปั่น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลยังคงมีอยู่
“ขบวนการประชาธิปไตยโดนสลาย ปราบปรามด้วยปืนแรงดันน้ำสูง เครื่องมือทางการเมือง การคุกคาม และการบังคับขู่เข็ญ แต่ความไม่พอใจและความคับข้องใจนั้นถูกกดทับไว้ด้วยการกดขี่” ศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เขียนในบทความทางหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันศุกร์นี้
กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลจัดคาร์ม็อบปิดถนนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 (เอพี)
ในโพลสอบถามความคิดของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ทำโดย สถาบันนิด้า ในเดือนมิถุนายน พลเอก ประยุทธ์ทำคะแนนนิยมได้แย่มาก โดยทำคะแนนได้ 11.68 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอันดับที่ 4 ส่วนการสำรวจความคิดเห็นในเดือนมีนาคม พลเอก ประยุทธ์อยู่อันดับสาม
ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมจากผู้ตอบแบบสอบถาม 36 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจเดือนที่แล้ว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนอันดับ 4 มีคะแนน 7 เปอร์เซ็นต์
การเสื่อมความนิยมใน พลเอก ประยุทธ์ เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งตัวเลือกของ พลเอก ประยุทธ์ในสมัยก่อน คือ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง พ่ายแพ้ต่อคู่แข่งอย่างหลุดลุ่ย ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพนั้นได้เพียง 2 ที่นั่งจาก 50 ที่นั่ง
ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ให้ทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ว่า
“หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ค่านิยมของคนที่เป็นผู้นำนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ประยุทธ์อาจถูกวางบทบาทอื่นให้ เช่น ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งจะไม่ได้เป็นผู้นำของพรรคที่อยู่ในสปอตไลท์ ซึ่งคนใหม่ที่จะเข้ามา ต้องเป็นที่ยอมรับในสังคม โปรไฟล์ดี และที่สำคัญคือ ไม่ใช่ทหารอาวุโสที่อายุมากแล้ว อย่างที่ประชาชนกำลังเจอกันอยู่ตอนนี้”
นอกจากนั้น พลเอก ประยุทธ์ ยังต้องเผชิญกับเรื่องของกฎหมาย ซึ่งฝ่ายค้านจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วกี่สมัย และต้องไม่เกิน 8 ปีหรือไม่ ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า พลเอก ประยุทธ์หมดสิทธิ์ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม นี้ เพราะได้รับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 หลังจากการรัฐประหารโดยไม่มีการเลือกตั้ง
ส่วนฝ่าย พลเอก ประยุทธ์ นับวันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน