ศาล รธน. ไม่รับคำร้องพิจารณาเรื่องโหวตนายกฯ พิธาซ้ำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.08.16
ศาล รธน. ไม่รับคำร้องพิจารณาเรื่องโหวตนายกฯ พิธาซ้ำ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภาหลังจากเสร็จสิ้นการโหวตเลือกประธานสภา วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
รอยเตอร์

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่มีการขอให้วินิจฉัยว่าการที่รัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองเพราะเป็นญัตติซ้ำนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ ศาลฯ เห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ร้องและผู้ร้องรายอื่น ๆ ไม่ใช่ผู้ที่ถูกละเมิดโดยตรงจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้  ส่วนพรรคก้าวไกล ยืนยันว่านายพิธาจะไม่ยื่นร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้แทน

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุในเอกสารข่าวว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้องที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภาในฐานะผู้ถูกร้องมีมติตีความว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่ 

“บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง… เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213” คำวินิจฉัยศาลกล่าว โดยระบุผู้ร้องที่เป็นนักวิชาการ สส. พรรคก้าวไกล และผู้ลงคะแนนเสียงหลายสิบคน 

ต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคจะต่อสู้ประเด็นดังกล่าวผ่านกระบวนการรัฐสภา 

“เราไม่ยื่นแน่นอน (ประเด็นเดียวกันให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา) เราเป็นเป้าของการไม่ให้เสนอนายกฯ ซ้ำ เราโดนกับตัวเราเอง เราก็ยืนยันมาตลอดว่า กิจการตรงนี้เป็นกิจการของสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรจะเข้ามา ดังนั้นก็จะไม่เห็นคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” นายรังสิมันต์ กล่าว 

นายรังสิมันต์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลต่อสู้ด้วยการเสนอญัตติให้รัฐสภาทบทวนว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำสามารถกระทำได้หรือไม่ 

“มันเป็นเรื่องหลักการ ณ จุดนี้ไม่ใช่การเสนอด้วยตนเองนะครับ เราไม่ได้เสนอเพื่อให้คุณพิธากลับมามีโอกาสที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำแล้ว แต่การเสนอแบบนี้มันเป็นหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าแคนดิเดตนายกจะชื่ออะไร เป็นใครได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น” นายรังสิมันต์ ระบุ 

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 รัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีในปัจจุบัน ทำให้นายพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบ 

ในการเลือกนายกฯ สว. และ สส. ฝ่ายรัฐบาลเดิม อ้างว่าไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพราะพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงความเห็นว่ารัฐสภาไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ได้เนื่องจากตีความว่าการเสนอชื่อนายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำซึ่งขัดต่อข้อบังคับรัฐสภา 

จากนั้น ในปลายเดือนกรกฎาคม 2566 นักวิชาการ ประชาชน และ สส. พรรคก้าวไกล ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันพุธนี้ว่า ไม่รับคำร้องดังกล่าว 

ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า คำวินิจฉัยนี้ทำให้ก้าวไกลจะไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก 

“คำสั่งศาลวันนี้ชัดเจนแล้วว่า พิธาหมดสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย คือ ปิดประตูเลย หลังจากนี้ก็คงมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่า เศรษฐา (ทวีสิน) จะถูกเสนอชื่อ แต่ก็ถูกครหาเรื่องการซื้อขายที่ดิน ซึ่งถ้าเศรษฐาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ความชอบธรรมจะไปตกที่อนุทิน (ชาญวีรกูล) เพราะเหมือนสถานการณ์ทั้งหมดเอื้อให้อนุทินมากกว่า และเชื่อว่าเขาจะถูกดันขึ้นมาในฐานะที่เป็นขั้วสำคัญของรัฐบาลเก่า” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว 

“ตอนนี้ เพื่อไทยก็อยู่ในจุดที่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ไม่เอา ทั้งยังถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมหักเหลี่ยมไปเรื่อย ๆ ทักษิณ (ชินวิตร) เองก็คงไม่ยอมให้อุ๊งอิ๊งค์ (แพทองธาร ชินวัตร) มาเสี่ยงในเกมการเมืองช่วงนี้ ซึ่งถ้าฉากทัศน์ที่ภูมิใจไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้น เพื่อไทยก็จะเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม 

ความวุ่นวายในการตั้งรัฐบาล 

หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จบสิ้นลงไม่นานนัก ก้าวไกลได้จับมือกับเพื่อไทย และพรรคอื่น ๆ รวมทั้งหมด 8 พรรค โดยได้ลงนามในเอ็มโอยู และสัญญาว่าจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน และเสนอชื่อนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประสบอุปสรรคเพราะตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล 

ต่อมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค 

ในที่สุด เพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกลรวมอยู่ด้วย โดยได้รวบรวมพรรคภูมิใจไทย, ชาติพัฒนากล้า, เพื่อไทยรวมพลัง, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย และชาติไทยพัฒนา เข้ามาเป็นพวก มีเสียงสนับสนุน 238 เสียง 

โดยต่อมา นายไผ่ ลิกค์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ประกาศว่า สส. 40 คนของพรรค พร้อมที่จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทยโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง