ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทุจริตวัคซีนโควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.08.31
กรุงเทพฯ
ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทุจริตวัคซีนโควิด-19 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงรัฐสภา ในกรุงเทพฯ ก่อนเริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 5 คน ในการจัดการการระบาดของ COVID-19 ผิดพลาด ในวันที่ 31 สิงหาคม 2564
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร/เอพี

ฝ่ายค้านเริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันแรกอังคารนี้ โดยได้มุ่งโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กระทำทุจริตการจัดหาวัคซีน และหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงการล้มตายของประชาชน 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะดำเนินการระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2564 และคาดว่าจะลงคะแนนในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 4 กันยายน นี้

“จัดหาวัคซีนผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ทั้งยังปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์จากบรรดานักการเมือง พฤติกรรมของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีลักษณะค้าความตาย โดยเห็นวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ เหิมเกริมคิดการใหญ่ ในการสร้างกำไรจากวัคซีนร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข โดยหวังผลประโยชน์บนซากศพ และคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน” นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเปิดการอภิปราย

นอกจากนั้น นายสมพงษ์ ยังกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ อีกว่า ลุแก่อำนาจในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างรุนแรงเกินสมควร ทำให้ประเทศถูกขับเคลื่อนไปด้วยความคับแค้น และเกลียดชัง

ขณะเดียวกัน น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่ารัฐบาลควรเร่งหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19

“ประชาชนจะลืมตาอ้าปากจากวิกฤตนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีมาตรการความช่วยเหลือ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่มากพอ เราต้องมีงบประมาณให้เศรษฐกิจที่ต้องฟื้นตัว แต่พลเอก ประยุทธ์ ไม่ยอมทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะมันเสี่ยงทางการเมือง” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว

หลังถูกอภิปราย พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่แล้วในการแก้ไขปัญหาโควิด-19

“ผมสวดมนต์ทุกวัน เพราะฉะนั้นผมจะไม่ทำอะไรผิด เรื่องการจัดหาวัคซีน การบริหารวัคซีน เราก็แก้ปัญหามาโดยตลอด ผมยืนยันรัฐบาลทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยประชาชน และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ มาโดยตลอด เพราะฉะนั้น เรื่องราคาวัคซีน การบริหารอะไรต่าง ๆ  ถ้าไม่ใช่ ไปตรวจสอบ(ได้)” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ของปี 2563 และปี 2564 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ครั้ง สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ คาดว่า รัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุน 275 เสียง ขณะที่ ฝ่ายค้านมีเสียง 212 เสียง จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 487 คน

นอกจาก พล.อ. ประยุทธ์ ผู้ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรายอื่น ๆ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

บก. ลายจุด เตรียมชุมนุมต้านรัฐบาลคู่ขนานสภาฯ ในวันพฤหัสบดีนี้

ด้านการเมืองภาคประชาชน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด ผู้ริเริ่มการชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ด้วยแคมเปญ “คาร์ม็อบ” ได้เตรียมจัดชุมนุมในวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่แยกอโศก เพื่อเป็นการสร้างกระแสทางการเมืองคู่ขนานกับการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และดึงผู้ชุมนุมกลับสู่แนวทางสันติวิธี

“เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้กังวลเรื่องการชุมนุมเท่าไหร่ แต่หากกระแสทั้งในและนอกสภา ออนไลน์และออฟไลน์ กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นกระแสสูง ก็คิดว่ากดดันพลเอก ประยุทธ์ได้” นายสมบัติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นมีเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะกระทบกระทั่ง โดยคาดหวังว่าการชุมนุมที่ประกาศจะใช้แนวทางสันติวิธีเข้มข้นนี้ จะสามารถดึงมวลชนออกจากแนวทางที่จะนำไปสู่ความรุนแรง โดยเห็นว่า ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องไปทะเลาะกับตำรวจ และเชื่อว่า ความรุนแรงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ ในการชุมนุมของหลายกลุ่มการเมืองช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ได้เกิดกลุ่มเยาวชน ที่ภายหลังถูกเรียกว่า กลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ซึ่งปักหลักที่สามเหลี่ยมดินแดง ใช้หนังสติ๊ก พลุ ประทัดยักษ์ และไปป์บอมบ์ เป็นอาวุธตอบโต้ การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และปืนยิงกระสุนยาง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน(คฝ.) จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการชุมนุมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 หรือต้นปี 2564

ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช จากสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม เชื่อว่า รัฐบาลจะผ่านการอภิปรายไปได้ โดยรัฐบาลเองตระหนักดีว่ามีเสียงสนับสนุนของ ส.ส. มากพอที่จะทำให้รัฐบาลสามารถอยู่ในอำนาจต่อไป

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้แทบจะไม่มีผลกับเสถียรภาพของรัฐบาลเลย เพราะต่อให้ฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลมาดีแค่ไหน ก็ไม่มีทางชนะได้ เช่น อภิปรายคราวก่อน ข้อมูลแน่นมาก ก็ได้แค่เป็นกระแสสังคม แต่เสียงโหวตไม่พอ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ฝ่ายค้านเองก็ไม่เป็นหนึ่งเดียว” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง