ศาล รธน. เรียกหลักฐานเพิ่มกรณีประยุทธ์นั่งนายกฯ 8 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.09.08
กรุงเทพ
ศาล รธน. เรียกหลักฐานเพิ่มกรณีประยุทธ์นั่งนายกฯ 8 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในเวลาต่อมา วันที่ 19 สิงหาคม 2565
สำนักนายกรัฐมนตรี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเรียกหลักฐานเพิ่มเติมจากรัฐสภา เพื่อมาประกอบการพิจารณาคำร้องของฝ่ายค้านที่ขอให้วินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ซึ่งนายชลน่าน ศรีแก้ว แกนนำฝ่ายค้านเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายค้าน 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมวาระพิเศษ และมีความเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ร้องขอเอกสารเพิ่มจากฝั่งผู้ร้อง

 “ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข ทั้งนี้ ให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 กันยายน 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 14 กันยายน 2565”​ ตอนหนึ่งของจดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ 

การนัดประชุมครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่หนึ่ง มีความเห็นว่า “หากนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”​ 

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่รับตำแหน่งนายรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจาการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 

อย่างไรก็ตาม กลับมีเอกสารที่ขัดกันรั่วออกมา กล่าวคือ เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ที่ระบุว่า การนับวาระ 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ ควรเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้ และระบุว่า รายงานการประชุม กมธ. ครั้งที่ 500 “เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย” 

ซึ่งต่อมากลับพบมีการเผยแพร่รายงานการประชุม กมธ. ครั้งที่ 501 ลงวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ระบุว่า “คณะกรรมการฯ มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม ตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข” ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงของนายมีชัย และทำให้เกิดเสียงวิจารณ์บนอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง จนศาลฯ ต้องขอหลักฐานเพิ่มเติมเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ โดยศาลฯ จะนัดพิจารณากรณีดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 14 กันยายน 2565 

“การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทางสภาฯ ส่งหลักฐานในส่วนนี้ไป ก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายค้านมีความหวังว่า ศาลจะรับเอาพยานเอกสารหลักฐานของฝ่ายค้านที่ยื่นไป เข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะจะเป็นการหักล้างเอกสารหลุดคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่อ้างว่านับวาระ 8 ปี จาก 6 เม.ย. 60 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และอ้างว่าความเห็นในบันทึกการประชุมที่เคยบอกให้นับปี 57 ไม่ใช่เอกสารที่สมบูรณ์” นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวหลังการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ 

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยนับตั้งแต่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด 

นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณาคดีนี้นาน อาจทำให้สังคมมองว่าศาลยังไม่มั่นใจในการมีคำวินิจฉัย หรือการตกลงต่าง ๆ ยังไม่เสร็จสิ้น 

“เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าคำชี้แจงของประยุทธ์บนโลกออนไลน์เป็นของจริง แต่ถ้าจริงผมเห็นว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ในแง่ของข้อกฎหมายที่ต้องใช้อรรถาธิบายค่อนข้างยาว เชื่อว่าผลการวินิจฉัยกรณีนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้สังคม เพราะความน่าเชื่อถือของศาลจะขึ้นอยู่ที่คำวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ก็คงมีความพยายามที่จะสร้างคำอธิบายที่มันเข้าท่าที่สุดเพื่อให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง” นายปิยะพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ฝ่ายค้านร้องศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี 

ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับวินิจฉัยกรณีดังกล่าว และสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าจะมีผลวินิจฉัย แล้วในวันที่ 1 กันยายน 2565 พล.อ. ประยุทธ์ได้ส่งเอกสารชี้แจงความยาว 23 หน้า สำหรับกรณีดังกล่าว 

ถัดมาในวันที่ 7 กันยายน 2565 มีการเผยแพร่คำชี้แจงของ พล.อ. ประยุทธ์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าการนับวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปีจากปี 2557 ไม่ถูกต้อง “การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง 'ขาดตอน' จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย. 2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้” 

จากเอกสารจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต จึงนำมาสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งขอเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว 

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ หนึ่ง นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565, สอง นับวาระตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 6 เมษายน 2568 และสาม นับวาระตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อปี 2562 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2570

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช จากกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง