ประยุทธ์ประกาศยุติบทบาทการเมือง ก่อนการเลือกนายกฯ คนใหม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.07.11
กรุงเทพฯ
ประยุทธ์ประกาศยุติบทบาทการเมือง ก่อนการเลือกนายกฯ คนใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หาเสียงให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 12 พฤษภาคม 2566
เอเอฟพี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวางมือทางการเมืองในวันอังคารนี้ ก่อนที่รัฐสภาจะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดี ด้านนักวิชาการเชื่อการยุติบทบาทของ พล.อ. ประยุทธ์ อาจทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีง่ายขึ้น เพราะแรงต้านจากสมาชิกวุฒิสภา ที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์อาจลดลง

“ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป” พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊กเพจของพรรครวมไทยสร้างชาติในช่วงเย็นวันอังคาร

พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลในการลาออกอย่างชัดเจน แต่ระบุว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ตนได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้ประเทศชาติแข็งแกร่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน มีเสถียรภาพ มีความสงบ และฟันฝ่าอุปสรรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนมีความสำเร็จก้าวหน้าเป็นรูปธรรมหลาย ๆ ด้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 และดำรงตำแหน่งเรื่อยมา กระทั่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ทั้งหมด

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 พล.อ. ประยุทธ์ ถูกกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้จัดการชุมนุมขึ้นหลายพันครั้งทั่วประเทศ เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ ว่าล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด-19

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พรรคมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเพียง 36 คน พ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล ที่ชูนโยบายไม่ร่วมรัฐบาลกับผู้ที่ทำรัฐประหาร และนโยบายเปลี่ยนประเทศ ซึ่งมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึง 151 คน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุุ๊กเพจ หลังการประกาศวางมือของ พล.อ. ประยุทธ์ว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อป้องกันเสียงวิจารณ์ที่จะมาสู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

“ตัวท่านเองเห็นว่า ท่านถูกโยงเป็นประเด็นให้พรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษของท่าน ที่เกรงใจคนอื่นอยู่เสมอ ท่านเกรงว่าจะทำให้พรรคมีปัญหา อีกทั้งมีการพยายามสร้างเรื่องว่าท่านพยายามจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้เสียภาพทั้งตัวท่านและพรรค ดังนั้นเพื่อยุติปัญหาทั้งหมดท่านจึงเห็นว่าการวางมือทางการเมืองของท่านเป็นหนทางที่ดีที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

 230711-th-politics-prayuth2.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซ้ายมือ) ผบ.ทบ. ในขณะนั้น พร้อมด้วย พล.อ. ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทท. พูดคุยกับผู้สื่อข่าวหลังการปิดการฝึกร่วมทางยุทธวิธีของกองทัพไทย ในพื้นที่กองทัพภาคที่สอง นครราชสีมา วันที่ 12 กรกฎาคม 2556 (แฟ้มภาพ เรดิโอฟรีเอเชีย)

เตรียมเลือกนายกคนใหม่พฤหัสบดีนี้

การประกาศวางมือของ พล.อ. ประยุทธ์ เกิดขึ้นก่อนที่รัฐสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคอื่นรวม 8 พรรค มี ส.ส. 312 คน จะเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสว่า ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. จะไม่ลงคะแนนให้นายพิธา

“ผมขอสื่อสารไปถึง ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่าน ท่านอาจไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเราในระบบการเมืองปกติ พวกท่านตรวจสอบผมได้ โจมตีผมได้ โหวตผมออกจากตำแหน่งก็ยังทำได้ แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมาก คือการให้โอกาสประเทศไทย เดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็นผมพร้อมแล้วที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน ไม่ว่าท่านจะเลือกพรรคไหน มีความเห็นทางการเมืองอย่างไร” นายพิธา เปิดเผยในวันอังคารนี้ บนเฟซบุ๊กเพจของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้ ส.ว. ไม่ขัดขวางการเป็นนายกรัฐมนตรีของตน

ต่อการวางมือทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนความอ่อนแรงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

“คิดว่าการวางมืออาจจะเพิ่มโอกาสให้พิธาได้รับเลือก ตั้งแต่การลงมติครั้งแรก เพราะแรงต้านจาก ส.ว. ก็น่าจะลดลง ฝ่ายอนุรักษ์นิยม อาจจะยอมให้พิธาเป็นนายกฯ ไปก่อน เพราะกระแสสนับสนุนพิธา และก้าวไกลมากจริง ๆ การยอมอาจจะช่วยลดแรงกดดันจากประชาชน ลดการเกิดการชุมนุมใหญ่ แต่ในอนาคตอาจจะมีทางเอาพิธาออกจากตำแหน่งก็เป็นไปได้” ดร. ฐิติพล กล่าว

230711-th-politics-prayuth3.jpg

ผู้สนับสนุนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชุมนุมประท้วงหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาล วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ เรดิโอฟรีเอเชีย)

ด้าน ดร. ธัชชนก สัตยวินิจ คณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า พล.อ. ประยุทธ์เสื่อมความนิยมมาก อาจเป็นโอกาสที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะสนับสนุนตัวแทนคนใหม่

“การดันผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าตัวละครนี้จะเป็นใคร หากมองถึง พลเอก ประวิตร ก็มีความเป็นไปได้ เพราะดูเหมือนจะเข้าได้กับทุกฝ่าย ประเด็นที่น่าจับตาคือ ส.ว. สายพลเอก ประยุทธ์ทั้งหมดนั้นจะเสียงแตกหรือไม่ เป็นไปได้พอสมควรว่าการโหวตนายกฯ จาก ส.ว. สายพลเอก ประยุทธ์ อาจไม่โหวตไปในทิศทางเดียวกัน” ดร. ธัชชนก กล่าว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ ปี พฤษภาคม 2557 - กันยายน 2562 มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, ถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, ถูกตั้งข้อหา ม.112 อย่างน้อย 98 คน, ถูกตั้งข้อหา ม.116 อย่างน้อย 119 คน, ถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีประชาชนเคลื่อนต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,914 คน ในจำนวน 1,218 คดี ในนั้นเป็นคดี ม.112 อย่างน้อย 250 คน ใน 269 คดี

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง