วันนอร์ ยกเลิกเลือกนายกฯ 27 ก.ค. นี้
2023.07.25
กรุงเทพฯ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มีคำสั่งงดการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม ที่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นี้ เพื่อรอผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการโหวตค้านการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ข้อสรุปว่า ควรงดการประชุมจากเดิมที่กำหนดให้มีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้
“ถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภาจะประชุมกันวันที่ 27 กรกฎาคม หากมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในภายหลัง จึงเห็นควรให้งดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า การประชุมระหว่าง ตัวแทนว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม, ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และ ตัวแทน สว. ที่กำหนดจะประชุมในวันที่ 26 กรฏาคม นี้ก็เลื่อนไปด้วย และหากจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อใดจะแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทราบต่อไป
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเสนอเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นักวิชาการ และ สส. 17 คำร้อง เกี่ยวกับมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นญัตติซ้ำว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ขณะเดินทางถึงรัฐสภา ในวันลงคะแนนเสียง ก่อนได้รับเลือกให้เป็นประธานรัฐสภา ในกรุงเทพฯ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 (เอเอฟพี)
ขณะเดียวกัน คำสั่งงดการประชุมของ นายวันมูหะมัดนอร์ เกิดขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย หลังจากวันที่ 13 กรกฎาคม รัฐสภาไม่เห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ
หลังจากนั้นพรรคก้าวไกล ได้ส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้เพื่อไทย ซึ่งในวันเสาร์ และอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล
“ถ้าให้เราเข้ามามีส่วนร่วม ก็คงไม่สามารถทำงานได้ ถ้าการร่วมยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็เลยต้องกราบเรียนท่านไว้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งใด ๆ แต่เป็นเรื่องของแนวทางการทำงาน เรื่องของความคิด เรื่องวิธีการทำงาน เราก็ได้กราบเรียนให้ท่านหัวหน้าชลน่าน (ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย) ได้รับทราบไว้ ท่านก็คงจะไปพิจารณาถึงข้อจำกัดของเรา ถ้ามีอะไรที่เราสามารถผ่านจุดที่เป็นอุปสรรคไปได้” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวในวันเสาร์
การที่เพื่อไทยได้หารือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีหัวหน้าเป็น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง เพราะก่อนการเลือกตั้ง เพื่อไทยได้ประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “ลุงที่ทำรัฐประหาร” ซึ่งหมายถึง พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร
ผู้ชุมนุมที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเดินประท้วงแสดงความไม่พอใจ หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติไม่ให้พรรคพันธมิตรแปดพรรคเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 (แจ็ค เทเลอร์/เอเอฟพี)
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลนับพันคนได้ชุมนุมที่แยกอโศก เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อ สส. และพรรคการเมือง ที่มีทีท่าหักหลังพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง
“กิจกรรมในวันนี้ (23 กรกฏาคม 2566) เพื่อส่งสัญญาณไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ให้คำนึงถึงเสียงของประชาชนที่ได้เลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นที่ตั้ง ขอให้คำนึงถึงถ้อยคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนก่อนเลือกตั้ง” นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำการชุมนุม กล่าวกับผู้ชุมนุมหลายพันราย
ต่อมาในวันจันทร์ ก้าวไกล ก็ได้เปิดเผยมติพรรคว่า “พรรคก้าวไกล จึงขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน เราไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ และจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”
แรงกดดันดังกล่าว ทำให้เพื่อไทยประกาศเลื่อนการประชุมร่วมว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้มีขึ้นในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 25 กรกฏาคม 2566 โดยอ้างว่ามีความคืบหน้าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลไม่มากพอ
ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะใช้พรรคภูมิใจไทยช่วยสร้างพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมาใหม่
“ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ หากมองจากฝั่งเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ คือมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะจับมือกับอนุทินแน่นอน แล้วให้อนุทินช่วยดีลคนอื่น ๆ ต่อ โดยเฉพาะ พลเอก ประวิตร ซึ่งยังคุมเสียง สว. อยู่จำนวนมาก เศรษฐา (แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) จะถูกเสนอชื่อเพื่อโหวตเป็นนายกฯ ขณะเดียวกันก็บาลานซ์โครงสร้างอำนาจให้ฝั่งอนุทิน และพลเอก ประวิตร มีบทบาทที่สำคัญใน ครม.” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 312 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้ออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน