ศาลให้ประกันตะวันแล้ว แต่ต้องติด EM และห้ามออกจากบ้าน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.05.26
กรุงเทพฯ
ศาลให้ประกันตะวันแล้ว แต่ต้องติด EM และห้ามออกจากบ้าน น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จับมือกับประชาชนที่มาให้กำลังใจหลังได้รับอิสรภาพจากทัณฑสถานหญิงกลาง วันที่ 26 พฤษภาคม 2565
นาวา สังฆ์ทอง/เบนาร์นิวส์

ศาลให้ประกัน น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นักกิจกรรมที่ต้องหาคดี ม. 112 โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ค้ำประกัน ก่อนหน้านี้ ตะวันได้อดอาหารประท้วงการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาแล้วกว่า 1 เดือน ในวันนี้ ศาลตั้งเงื่อนไขให้ตะวันต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring-EM) และห้ามออกจากเคหสถาน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ ว่าในเวลา 13.38 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว น.ส. ทานตะวัน แล้วหลังจากทนายความยื่นขอประกันมาหลายครั้ง

“ให้ประกันตะวัน มีกำหนดเวลา 1 เดือน โดยตั้งให้พิธาเป็นผู้กำกับดูแล พร้อมเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ห้ามออกนอกเคหสถาน ยกเว้นเจ็บป่วย ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้อีก ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

นายพิธา ในฐานะนายประกัน และผู้กำกับดูแล น.ส. ทานตะวัน ตามคำสั่งศาล ได้เปิดเผยก่อนฟังการไต่สวนประกันว่า ยินดีที่จะพา น.ส. ทานตะวันไปศาลตามนัด และยืนยันว่าจะไม่มีการหลบหนีแน่นอน โดยจุดประสงค์การยื่นประกันครั้งนี้เพื่อให้นำตัว น.ส. ทานตะวันมาเข้าสู่การรักษาหลังจากเจ้าตัวอดอาหารอย่างยาวนาน

“ฝากไปถึงผู้มีอำนาจเรื่องขื่อแปของบ้านเมือง วิธีในการที่จะทำเรื่องของตุลาการให้เหมาะสม น่าเชื่อถือ และสามารถที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยยุคใหม่ให้ได้ เพราะต่างชาติกำลังดูอยู่ นักธุรกิจเขาดูอยู่ ในบ้านที่มันไม่มีขื่อไม่มีแป ไม่มีใครเขาอยากลงทุน มันจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะมันมีความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ฝากเรื่องของตุลาการ การฝากขัง ให้มันเข้าสู่กระบวนการสากลให้มากขึ้น” นายพิธา กล่าวกับสื่อมวลชนที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

ต่อมาในเวลา 17.00 น. น.ส. ทานตะวัน ได้รับการการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง ท่ามกลางประชาชนที่มาต้อนรับหลายสิบคน

“ไม่รู้จะขอบคุณยังไง แต่ขอบคุณทุกคนเลย ตอนอยู่ข้างใน กำลังใจจากคนข้างนอกเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ คือ เป็นแรงผลักดันให้เราใช้ชีวิตอยู่ในนั้น อย่างมีกำลังใจมากขึ้น” ตะวัน กล่าวกับผู้ที่มาให้กำลังใจ

ก่อนที่ตะวันจะได้รับการปล่อยตัว เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อยบริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจาก นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือ เค ร้อยล้าน ซึ่งเคยทำพิธีปล่อยงูบริเวณแยกราชประสงค์ในปี 2562 ได้เข้ามาบริเวณที่ประชาชนรอรับตัวตะวันอยู่ และชูพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ก่อนที่จะถูกประชาชนขว้างปาสิ่งของ และขับไล่จนต้องล่าถอยไป

น.ส. ทานตะวัน อายุ 20 ปี เป็นที่รู้จักจากการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “ทะลุวัง” ทำจัดกิจกรรมสำรวจความคิดประชาชน ในประเด็น “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ?” ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้ถูกดำเนินคดี ข้อหา ม. 112 และ ม. 116 และต่อมาถูกตั้งข้อหา ม. 112 อีกคดีจากการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก บริเวณริมถนนราชดำเนิน ก่อนจะมีขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565

ตะวันถูกควบคุมตัวในทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2565 หลังจากถูกควบคุมตัว เพราะศาลได้เพิกถอนประกันในคดีถ่ายทอดสดเฟซบุ๊ก ตะวันได้ประกาศอดอาหาร และดื่มเพียงนม-น้ำ เพื่อประท้วงการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ก่อนถูกควบคุมตัวเธอเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” รวมแล้วตะวันถูกข้อหา ม. 112 จำนวน 2 คดี

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า จากกรณีการคุมตัวนักกิจกรรมระหว่างการสอบสวนนั้น สังคมควรร่วมกันเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ต้องหาเรื่องการประกันตัว เพื่อเป็นการรักษาหลักการให้กับสังคมไทย

“สังคมควรส่งเสียงเรียกร้องให้ศาล หรือตุลาการ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นธรรม และเรียกร้องให้คนที่สั่งการเรื่องนี้หยุดได้แล้ว เพราะมันเป็นการทำลายรากฐานที่สำคัญของประเทศ คือ หลักนิติรัฐ ซึ่งทำให้สังคมเสียหาย เราควรเรียกร้อง เพราะวันพรุ่งนี้อาจเป็นเราก็ได้ที่ถูกใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะข้อหาใด หรือความผิดแบบไหน” น.ส. พรเพ็ญ ระบุ

น.ส. ทานตะวัน เป็นนักเคลื่อนไหวที่ร่วมกระแสการชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนเมษายน 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี ในนั้นเป็น ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม. 112 อย่างน้อย 190 คน ใน 204 คดี ปัจจุบัน มีผู้ที่ยังถูกควบคุมตัวจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 10 ราย

ในวันเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งถูกควบคุมตัวในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 จากข้อหา ม. 112 และได้อดอาหารประท้วงเช่นเดียวกับตะวัน แต่ศาลได้ปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ขณะที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส. เบญจา อะปัญ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้รับการต่อประกันถึงเดือนกรกฎาคม 2565 และพฤษภาคม 2566 ตามลำดับ

นาวา สังฆ์ทอง ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง