ศาลรับฟ้องคดีเอกชัย-บุญเกื้อหนุนและพวก ขวางขบวนเสด็จฯ

ศาลให้ประกันตัวจำเลยทั้งห้าราย นัดตรวจพยานหลักฐาน 26 เมษายน 2564
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.03.31
กรุงเทพฯ
ศาลรับฟ้องคดีเอกชัย-บุญเกื้อหนุนและพวก ขวางขบวนเสด็จฯ นายเอกชัย หงส์กังวาน (ซ้าย) และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง (ขวา) พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่ศาลอาญา หลังจากได้รับการประกันตัวในคดีประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือเสรีภาพในพระราชินี วันที่ 31 มีนาคม 2564
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายเอกชัย หงส์กังวาน นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง และนักกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 5 ราย ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 จากการขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในระหว่างที่กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว ในตอนเย็นวันนี้

ในคดีนี้ นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง, นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ และผู้ต้องหา ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปอีก 2 ราย (สงวนชื่อและนามสกุล) ถูกพนักงานอัยการพาตัวไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 11.00 น. ในข้อหาความผิดตาม ม.110 วรรค 1 จากการขัดขวางขบวนเสด็จฯ บนถนนพิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งทนายระบุว่า บทลงโทษในความผิดตาม ม.110 วรรค 1 นั้น มีโทษจำคุกระหว่าง 16–20 ปี

“คดีนี้อัยการฟ้องเอกชัย และพวก รวม 5 คน คดี ม.110 ศาลสอบคำให้การจำเลยทั้งห้า ให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลอาญารับไว้พิจารณาและนัดตรวจหลักฐาน 26 เมษายน เวลา 09.00 น.” นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวแก่สื่อมวลชน

ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ศาลอาญาได้อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งห้าคน ด้วยวงเงินคนละ 200,000 ถึง 300,000 บาท

ทนายความพูนสุข กล่าวอีกว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก่อเหตุอันตรายอื่น ๆ หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่ออุปสรรคกับพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งห้าคนจึงได้รับการปล่อยตัวในชั้นศาล

นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือฟรานซิส นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ กล่าวว่าตนเองมีความยินดีที่ศาลให้ประกันตัว

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ศาลอาญาให้ประกันตัวเราในวันนี้ ถือว่าเป็นนิมิตรหมายใหม่ที่ดี แต่เป็นที่แน่นอนว่า การต่อสู้ของพวกเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เรายังต้องเดินทางมาที่ศาลอาญาอยู่ เพื่อที่จะต่อสู้กับคำกล่าวหาที่เกิดขึ้น... เรายืนยันในความบริสุทธิ์ของเราเหมือนเดิม และจะยืนหยัดต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป” นายบุญเกื้อหนุนกล่าว

“ผมและผู้ต้องหาอีก 4 คน ได้ถูกกล่าวหาอย่างไร้มูลเหตุความเป็นจริงว่า มีความพยายามจะประทุษร้ายต่อเสรีภาพองค์ราชินี และองค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 อย่างที่ผมและคนอื่น ๆ ได้แจ้งมาตลอดว่าพวกเราไม่มีความพยายามในการกระทำตามข้อกล่าวหานี้ พวกเรายืนยันในความบริสุทธ์ของพวกเรามาตลอด”  

ด้านนายเอกชัย หงส์กังวาน หนึ่งในผู้ต้องหา กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ตนเองไม่เคยมีความคิดจะหลบหนี แม้มีโอกาสมาตลอด

“วันนี้ อัยการส่งฟ้อง ม.110 เป็นข้อหาที่ยังไม่มีใครโดน มีอยู่แค่คดีเดียว ถ้าศาลจะอ้างว่ากระทำผิดซ้ำซากอีกก็ไม่ได้ เหลืออยู่ประเด็นเดียวคือโทษสูงกลัวหลบหนี ปีที่แล้ว ศาลก็ปล่อยฝากขังผมโดยไม่ต้องวางเงินแม้แต่บาทเดียว เป็นเวลาถึงตอนนี้ก็เกือบ 5 เดือนแล้ว ซึ่งถ้าผมจะหลบหนีมันง่ายมากเลย เพราะไม่ได้วางเงินประกัน ศาลไม่ได้ตั้งข้อห้าม ไม่ติดอีเอ็ม แต่วันนี้ ผมก็มาที่นี่ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผมไม่เคยคิดจะหนี” นายเอกชัย กล่าว

ขณะที่ นายสุรนาท แป้นประเสริฐ นักกิจกรรมอีกรายที่ถูกต้องข้อหา กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีพยาน-หลักฐานที่สามารถยืนยันในความบริสุทธิ์ได้

“เราเชื่อว่าหลักฐานพยานเรามีก็ชัดเจนมาก ไทม์ไลน์จากสำนักข่าวเอง ไทม์ไลน์ที่เรามี ตัวหลักฐานที่พี่ ๆ เพื่อน ๆ ส่งมาชัดเจนมากว่าเราเหมือนคนอื่นๆ ที่อยู่ที่นั่นหลายร้อยคนที่ไปอยู่ตรงนั้น มันไม่ควรที่จะมาถูกดำเนินคดี และเลือกที่จะเจาะจงด้วยสถานการณ์ หรือต้องการคนหาคนรับผิดชอบ ทั้งที่คนรับผิดชอบไม่ใช่พวกเรา ต้องเป็นเจ้าหน้าที่” นายสุรนาท กล่าว

“คาดหวังเรื่องที่จะได้รับความเป็นธรรม… เราก็เชื่อมั่นอยู่แล้วว่าคดีจะมีโทษสูงแค่ไหนแต่ด้วยการสืบพยานหลักฐาน ในกระบวนควรให้โอกาสเราได้พิสูจน์… ในวันนั้นทุกคนก็เห็น สำนักข่าวก็เห็น สื่อก็เห็นว่า เราเองอยู่ในพื้นที่ก่อนด้วยซ้ำ พฤติการณ์เราอยู่ในพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนแบบเข้มงวด เราเชื่อว่าโทษจะสูงแค่ไหน แต่ถ้าให้เราพิสูจน์จะเห็นชัดเจน” นายสุรนาท ระบุ

เมื่อวันอังคารวานนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ รายงานสิทธิมนุษยชนสหรัฐอเมริกาประจำปี 2020 ครั้งที่ 45 ที่รายงานการปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงได้รายงานการจับกุม นายบุญเกื้อหนุนและพวกอีก 2 คน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

210331-royal-inside.jpeg

ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติ มาถึงยังสะพานชมัยมรุเชฐ ปะเข้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 14 ตุลาคม 2563 (ภาพ ฐิติ ปลีทอง)

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีที่นายเอกชัย และพวก รวม 5 คน ถูกส่งฟ้องนี้ นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา โดยเหตุเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่มวลชนกำลังเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล และโดยผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 คน ยืนอยู่บนถนนพิษณุโลก ขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชูสามนิ้ว และตะโกนว่า “ภาษีกู” รวมถึงมีการขว้างปาขวดน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณดังกล่าว พยายามกันผู้ชุมนุมออกห่างจากแนวเส้นทาง

ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2563 มีข่าวว่า นายเอกชัย และนายบุญเกื้อหนุน ถูกออกหมายจับ นายบุญเกื้อหนุน และนายเอกชัยจึงเดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถูกจับกุมตัว และในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ขณะที่ นายสุรนาถ ที่กำลังจะเดินทางไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว โดยเบื้องต้นทั้ง 3 คนถูกตั้งข้อหา ม.110 ก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคือ ม. 215 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ

ระหว่างการสอบสวน นายบุญเกื้อหนุนได้รับอนุญาตประกันตัวจากศาล ขณะที่ นายเอกชัยและสุรนาถ ไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ทั้งคู่จึงได้รับการปล่อยตัว ต่อมามีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดียวกันกับ 3 คนแรก เพิ่ม 2 ราย โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 5 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง