ศาลรับฟ้อง-ไม่ให้ประกันตัว รุ้ง ไมค์ ไผ่ คดีหมิ่นสถาบันฯ

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2021.03.08
กรุงเทพฯ
ศาลรับฟ้อง-ไม่ให้ประกันตัว รุ้ง ไมค์ ไผ่ คดีหมิ่นสถาบันฯ ไมค์ ระยอง (ใส่แว่นดำ-ซ้ายมือ) รุ้ง ปนัสยา (กลาง) และไผ่ ดาวดิน (ขวามือ) รับดอกไม้จากมวลชนที่มาให้กำลังใจ ก่อนถูกอัยการนำตัวไปสั่งฟ้องที่ศาลอาญา รัชดา วันที่ 8 มีนาคม 2564
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญาได้รับฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ ที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้อง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)  นายภานุพงศ์ จาดนอก (ไมค์)  และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) พร้อมกับพวกรวมเป็น 18 ราย จากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง โดยศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวจำเลยทั้งสามและส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ทันที

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศาล ระบุว่า น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายภานุพงศ์ จาดนอก และ นายจตุภัทร์ นายภานุพงศ์ ถูกกล่าวหาในฐานความผิดหลัก ๆ สามข้อหา คือ หนึ่ง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ม.112) สอง ข้อหายุยงปลุกปั่น (ม.116) และ สาม ฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการ (ม.215) นอกจากนั้น ยังมีข้อหาอื่น ๆ อีกแปดข้อหา ขณะที่จำเลยอีก 15 ราย ถูกฟ้องในคดีอื่น ๆ ยกเว้นคดีหมิ่นสถาบัน และได้รับประกันตัว

ในเวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายจตุภัทร์ และนายภานุพงศ์ ได้นำขบวนเดินเท้าและรถเครื่องเสียงโบกธง ถือป้ายมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งหมดที่มาฟังคำสั่งอัยการในวันนี้ ก่อนที่อัยการจะพาทั้งหมดเดินเท้าไปฟ้องศาลอาญาในเวลาประมาณ 12.00 น. ท่ามกลางการให้กำลังใจของญาติ และมวลชนหลายสิบคน ซึ่งรอคอยอยู่ริมถนนรัชดาภิเษกพร้อมกับจัดเวทีปราศรัย

แต่ต่อมาในเวลาประมาณ 15.30 น. มีการเปิดเผยว่า ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว 3 แกนนำ นายจตุภัทร์ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ศาลไม่ให้ประกัน ไผ่ ไมค์ รุ้ง สู้ ๆ นะทุกคน” 

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เขียนข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “ที่งานประกัน นายประกันระบุยังไม่ได้รับแจ้งผลการขอปล่อยตัวชั่วคราว 18 ราษฎร คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อย่างไรก็ตาม ญาติของ "ไมค์-รุ้ง-ไผ่" แจ้งว่าทั้งสาม ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว”

ศูนย์ทนายความฯ ได้ระบุในเวลา 16.30 น. ว่า “ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 15 ปชช. ที่ถูกฟ้อง #ม116 เป็นข้อหาหลัก ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังทนายยื่นประกันด้วยตำแหน่ง สส.และอาจารย์ ในวงเงินคนละ 35,000 บาท ศาลนัดพร้อม 15 มี.ค. 64 เวลา 09.00 น. และนัดตรวจพยานหลักฐาน 29 มี.ค. 64”

การถูกควบคุมตัวครั้งนี้ของ นายจตุภัทร์, นายภานุพงศ์ และน.ส. ปนัสยา เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง โดยสำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 18 ราย ซึ่ง น.ส.ปนัสยา เป็นจำเลยที่ 1 นายภานุพงศ์ เป็นจำเลยที่ 2 และนายจตุภัทร์ เป็นจำเลยที่ 3

“นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายภานุพงศ์ หรือไมค์ ระยอง จาดนอก แล้วก็นายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา เฉพาะสามคนนี้จะมีข้อหาก็คือ ความผิดตามมาตรา 112 ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 3 คนดังกล่าว รวมอีก 15 คน เป็น 18 คน จะถูกฟ้องในวันนี้ข้อหาร่วมกันตามมาตรา 116, ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันจัดชุมุนมในที่สาธารณะด้วยการฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง และอื่น ๆ” นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้ต้องหาที่เหลือ ประกอบด้วย 1. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ 2. นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท เมืองนนท์ 3. นายชูเกียรติ แสงวงศ์ 4. นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 5. นายณัทพัช อัคฮาด 6. นายธนชัย เอื้อฤาชา 7. นายธนพ อัมพะวัต 8. นายธานี สะสม 9. นายภัทรพงศ์ น้อยผาง 10. นายสิทธิทัศน์ จินดารัตน์ 11. น.ส. สุวรรณา ตาลเหล็ก 12. นายอะดิศักดิ์ สมบัติคำ 13. นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง 14. นายณัฐชนน ไพโรจน์ และ 15. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ (ยังถูกฝากขังจากคดีวางเพลิงหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม)

สำหรับ 11 ข้อหาที่อัยการสั่งฟ้อง ประกอบด้วย ม.112, ม.116, ม.215, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กระทำการกีดขวางทางสาธารณะ, วางตั้งสิ่งของยื่นกีดขวางทางสาธารณะ, ตั้งวางสิ่งของกีดขวางถนน, ทำลายโบราณสถาน, ทำให้เสียทรัพย์ และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต

ประท้วงข้ามคืนที่สนามหลวง

คดีนี้เป็นคดีเดียวกันกับที่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ถูกอัยการสั่งฟ้อง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี ทำให้ทั้งหมดต้องถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กทม. ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน

โดยเมื่อในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 กลุ่มนักศึกษาและประชาชน ในนามกิจกรรม “19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” หลายหมื่นคนได้ยึดสนามหลวงเป็นพื้นที่ในการแสดงออกเพื่อประท้วงรัฐบาล และเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งยังเน้นย้ำการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ แล้วในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายหนังสือผ่านทางทำเนียบองคมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อ ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเสนอเมื่อเดือนสิงหาคม

น.ส.ปนัสยา ซึ่งเป็นแกนนำยื่นหนังสือในวันนั้น กล่าวในวันนี้ว่า ในการต่อสู้ย่อมต้องมีผู้เสียสละ

“สุดท้ายแล้วถึงจะมีคนเข้าคุกไป สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ข้างนอกเขาก็ยังต่อสู้กันอยู่ มันไม่จำเป็นว่ามีเราถึงจะสู้ได้ ทุกคนออกมาแล้ว ทุกคนเรียนรู้มาแล้ว เราไม่ห่วงเลยแม้แต่นิดเดียวว่า การเคลื่อนไหวจะหยุดไป… ได้มีการพูดคุยแล้วกับคนที่จะเป็นคนอีกรุ่นนึงต่อจากนี้ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขาในการดูแล และร่วมต่อสู้ไปกับทุกคน” น.ส.ปนัสยา ก่อนถูกนำตัวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ไปส่งฟ้องที่ศาลอาญา

ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หน้าศาลอาญา

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษา ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้ การจัดการเรียนการสอน และการดูแลกิจการนักศึกษา จึงมีความกังวลและความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ถูกจับกุม..”

“ตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่เป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้การคุ้มครองและรับรองไว้ เพื่อให้ผู้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นนักเรียนนิสิตและนักศึกษา สามารถกลับมาศึกษาเล่าเรียน เพื่ออนาคตทางการศึกษาของเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป”

ในช่วงเย็นที่เกาะพญาไท ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มวลชนจำนวนหนึ่งได้จัดกิจกรรมปราศรัยขึ้น หลังทราบว่าศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายจตุภัทร์, นายภานุพงศ์ รวมถึง น.ส.ปนัสยา โดยเนื้อหาการปราศรัยโจมตีกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ซึ่งถูกควบคุมตัวจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 63 ราย ใน 51 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 17 คดี, นายอานนท์ 11 คดี น.ส.ปนัสยา 8 คดี, นายภาณุพงศ์ 7 คดี, นายชูเกียรติ แสงวงค์ 3 คดี และวรรณวลี ธรรมสัตยา 3 คดี

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะใกล้เคียงกันหลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการชุมนุมบางครั้งมีการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดย น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 382 คน จาก 223 คดี ตามข้อมูลในวันที่ 3 มีนาคม 2564

การชุมนุมเมื่อวันเสาร์

ทั้งนี้ นอกจากคณะราษฎรแล้ว การชุมนุมจากผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ยังมีการใช้ชื่อกลุ่มย่อยหลายชื่อ เช่น เยาวชนปลดแอก, ประชาชนปลดแอก, We Volunteer - WEVO และล่าสุด REDEM ซึ่งได้จัดกิจกรรมเดินเท้าไปเผาขยะที่หน้าศาลอาญาในวันเสาร์ โดยเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำราษฎรที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่, กลุ่มราษฎรนนทบุรี และเสื้อแดง ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าไปยังศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ และ นายจตุภัทร์ และประชาชนภาคอีสาน จัดกิจกรรมเดินจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นระยะทาง 247.5 กิโลเมตร มายังอนุสาวรีย์ประชาธิไตย โดยใช้ข้อเรียกร้องเดียวกันกับกลุ่มราษฎร และให้ปล่อยนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมจากกิจกรรมทางการเมือง

ในวันเดียวกันนั้น นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ และสมาชิกกลุ่ม WEVO รวม 48 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกควบคุมตัวที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซินิเพล็ก รัชโยธิน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา จนทำให้ประชาชนได้เข้าล้อมรถซึ่งควบคุมตัวกลุ่มวีโว่บางราย อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ออกจากรถควบคุมตัวได้ ได้เดินทางไปแสดงตัวที่ สน.พหลโยธิน เพื่อยืนยันว่าไม่ได้พยายามหลบหนี

ต่อมาศูนย์ทนายระบุว่า นายปิยรัฐ และพวก รวม 16 คน ถูกตั้งข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยถูกพาตัวไปควบคุมที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 จังหวัดปทุมธานี ล่าสุดในวันจันทร์นี้ ศาลให้ประกันตัวกลุ่ม WEVO ทั้งหมด โดยให้วางหลักทรัพย์ 4.5 หมื่นบาท ยกเว้น นายปิยรัฐ ทำให้นายปิยรัฐจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ระหว่างกระบวนการสอบสวน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง