อัยการสั่งฟ้อง ม.112 “มายด์” และพวก เหตุชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.22
กรุงเทพฯ
อัยการสั่งฟ้อง ม.112 “มายด์” และพวก เหตุชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน หนึ่งในแกนนำประท้วง น.ส. ภัทราวลี ธนกิจวิบูลย์พล หรือ "มายด์" หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ในกรุงเทพฯ วันที่ 26 ตุลาคม 2563
รอยเตอร์

อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีความเห็นในวันพฤหัสบดีนี้ ให้สั่งฟ้อง 13 ผู้ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย ปลายปี 2563 ในความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 จากการเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบว่ามีการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จากประเทศเยอรมนีหรือไม่

ด้านศาลอาญากรุงเทพใต้ รับฟ้องคดี ก่อนให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์-ส.ส. ค้ำประกัน และมีเงื่อนไขห้ามกระทำการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

การสั่งฟ้องของอัยการสืบเนื่องจากกลุ่มประชาชนในนามราษฎร ได้ชุมนุมและปราศรัยที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่า มีการบริหารราชการแผ่นดินของในหลวง ร.10 จากประเทศเยอรมันหรือไม่ ซึ่งในวันดังกล่าว ผู้ชุมนุมได้เข้าพูดคุยกับเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยด้วย

ในคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มีผู้ต้องหาทั้งหมด 13 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 ร่วมหมิ่นสถาบันพระกษัตริย์ และ ม.116 ร่วมกันยุยงปลุกปั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ อัยการได้เลื่อนการสั่งฟ้องมาแล้ว 3 ครั้ง

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวหลังพาผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการส่งฟ้องของอัยการที่ศาลอาญา กรุงเทพใต้ ว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และศาลฯ นัดตรวจสอบพยานหลักฐาน ในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 นี้

“คดีนี้เป็นคดีที่น้อง ๆ ถูกกล่าวหากรณีไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลา ปีที่แล้ว ถูกฟ้องตามมาตรา 112 หาว่า ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น น้อง ๆ เราทุกคนไม่มีใครกระทำผิดต่อกฎหมายอย่างที่เราเชื่อมั่น พวกเราเพียงแค่ต้องการจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงเพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์เองด้วยซ้ำไป” นายกฤษฎางค์ กล่าว

สำหรับผู้ต้องหา 13 คน มี น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ซึ่งเป็นแกนนำคณะราษฎร และรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงพนักงานบริษัท แต่ในวันนี้ นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หนึ่งในผู้ต้องหาไม่ได้เดินทางมาตามนัด โดยทนายความระบุว่า ไม่สามารถติดต่อนายณวรรษได้

นายอรรถพล เปิดเผยว่า เงื่อนไขในการให้ประกันของศาล ยังมีความไม่ชัดเจนในความคิดของตน

“มีเงื่อนไขอยู่บางประการที่เรามีข้อติดขัด และก็ข้องใจอยู่ ซึ่งอาจจะร้องให้แก้ไขในอนาคต ห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องให้ทางทนายดูวิธีที่จะแก้ไขเงื่อนไขนี้ เพราะการใช้คำว่า กระทำความผิดอีกนั้น หมายความว่า เป็นการตัดสินไปแล้วว่าการกระทำใด ๆ เป็นความผิด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการไต่สวนหรือพิจารณาคดีตัดสินใด ๆ ทั้งสิ้น” นายอรรถพล กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังได้รับการประกันตัว

พรรคการเมืองเยอรมนีประณามการดำเนินคดี

ด้านพรรคกรีนของประเทศเยอรมนี ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ประณามการดำเนินคดีกับ 13 ผู้ชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันด้วย

“เราขอประณามการดำเนินการด้วยกฎหมายที่มีลักษณะเหวี่ยงแหต่อผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งรวมไปถึงการฟ้องร้องคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง… เราขอยืนหยัดอยู่ข้างทุกคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิพลเมืองโดยสันติ” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมโดยกลุ่มราษฎร ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีลาออก มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 แล้วอย่างน้อย 111 ราย ใน 108 คดี โดย น.ส. ภัสราวลี ถูกดำเนินคดี ม.112 แล้ว 3 คดี ขณะที่นายอรรถพล 2 คดี  ขณะที่ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา ม. 112 และอื่น ๆ จากการร่วมชุมนุมทางการเมือง และแสดงออกทางความคิด รวมอย่างน้อย 712 ราย ใน 392 คดี

"มิลลิ" เสียค่าปรับสองพันบาท ข้อหาหมิ่นนายกฯ

ในวันเดียวกัน น.ส. ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ นักร้องเพลงแร็ป ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งนายอภิวัฒน์ ขันทอง เป็นตัวแทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าฟ้องร้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

น.ส. ดนุภา ได้รับทราบข้อกล่าวหา ม. 393 ซึ่งเกิดจากการเขียนข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว โดย น.ส. ดนุภา รับสารภาพว่า เขียนข้อความดังกล่าวจริง พนักงานสอบสวนจึงให้เสียค่าปรับเป็นเงิน 2 พันบาท อย่างไรก็ตาม น.ส. ดนุภา มิได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่ นายศุชัยวุธ ชาวสวนกล้วย ทนายความได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการว่า ทนายความของนายกรัฐมนตรี ได้บรรยายฟ้องว่า น.ส. ดนุภา เขียนข้อความโดยใช้คำไม่สุภาพ

“การแสดงความคิดเห็นของน้องมิลลินั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นที่สุจริต และเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็นด้วยความห่วงใย ซึ่งถ้อยคำหรือข้อความที่ได้สื่อไปนั้น ในวัยยุคหนึ่งของคนหนึ่งอาจจะมองว่าไม่สุภาพ แต่ในยุคของมิลลิ ซึ่งอายุ 19 ปี อาจจะมองว่าเป็นถ้อยคำธรรมดา” นายศุชัยวุธ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้กล่าวเตือนบุคคลมีชื่อเสียง และนักแสดง ให้หยุดใช้สื่อสังคมออนไลน์โจมตีรัฐบาล เพราะอาจเข้าข่ายการสร้างข่าวปลอม อย่างไรก็ตาม ภายหลัง นายชัยวุฒิระบุว่า ยังไม่เคยดำเนินคดีกับนักแสดงคนใดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง