แกนนำคณะราษฎร-นักเรียนเลว รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2020.11.30
กรุงเทพฯ
แกนนำคณะราษฎร-นักเรียนเลว รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทนายอานนท์, เพนกวิน, รุ้ง และไมค์ แกนนำคณะราษฎร แสดงสัญลักษณ์ 3 นิ้ว หลังรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ นายอานนท์ นำภา, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำคณะราษฎร รวมถึง นายปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ นักเคลื่อนไหวการเมืองจากจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยทนายความได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ สน.ชนะสงคราม ขณะที่ 3 แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และนักเรียนไท รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ สน.ลุมพินี เบื้องต้นทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าการถูกฟ้องไม่ทำให้การต่อสู้หยุดลง

นายอานนท์, ไมค์, เพนกวิน, รุ้ง และหมอลำแบงค์ เดินทางไปยัง สน.ชนะสงครามในเวลาประมาณ 13.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ม. 112 ซึ่งเป็นข้อหาเพิ่มเติมจากเดิมที่ในเดือนพฤศจิกายน 2563 คนทั้งหมดเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหา ม. 116 จากกรณีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งมีการปราศรัยวิพากษ์-วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

นายพริษฐ์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ชุมนุมจะกระตุ้นให้คนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้นหากมีการชุมนุมในอนาคต เพราะแสดงให้เห็นว่าประเทศไร้ซึ่งความยุติธรรม

“การใช้มาตรา 112 กับพวกเราทุกคนนี้จะเป็นประจักษ์พยานให้สังคมโลกได้รู้ว่า ตอนนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ครั้งนึงพลเอกประยุทธ์บอกว่า พระมหากษัตริย์เรามีพระเมตตาในการไม่ใช้ 112 แต่วันนี้เหมือนพระเมตตานั้นจะเหือดหาย” นายพริษฐ์ กล่าว

นายภานุพงศ์ ระบุว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรเป็นกฎหมายที่ถูกยกเลิก “การวิพากษ์-วิจารณ์เรื่องสถาบันกษัตริย์ คิดว่าควรวิพากษ์-วิจารณ์ได้ และควรตรวจสอบได้ ในฐานะของการเป็นประมุขของรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมมองว่า 112 เป็นกฎหมายที่ควรจะถูกยกเลิก เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มี 112 ก็ยังอยู่ให้คนเคารพสักการะถึงทุกวันนี้”

ด้าน นายอานนท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ หลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล

“ผมเชื่อว่า ศาลตระหนักแล้วว่า 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพราะตำรวจไปขอออกหมายจับ ศาลก็ไม่ได้ออกให้ เพื่อให้ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ สำหรับผมการดำเนินคดีไม่น่าจะมีผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของเรา นอกจากเสียเวลา ผมไม่ได้รู้สึกอะไรกับการถูกดำเนินคดี” นายอานนท์ ระบุ

ขณะที่ น.ส.ปนัสยา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จากวันนี้แกนนำทั้งหมดจะให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเอกสาร เพื่อชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหา

“พวกเราให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา สำหรับพวกเราที่โดน 112 ยังยืนยันว่า จะพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราวางแผนไว้ก็จะดำเนินไปเหมือนเดิม กำลังใจก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

น.ส.ปนัสยา ระบุว่า ประชาชนในนามคณะราษฎรจะนัดชุมนุมอีกครั้ง ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปฟังคำวินิจฉัยของศาล กรณีการพักในบ้านพักของราชการ หลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะสิ้นสภาพทางการเมือง และต้องถูกให้เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นอกจากผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ ยังมี อีก 9 ราย คือ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, นายชนินทร์ วงษ์ศรี, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด, นายชูเกียรติ แสงวงศ์, นายสมบัติ ทองย้อย, นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้, นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ และนายชนินทร์ วงษ์ศรี ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่า คนทั้งหมดจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจเมื่อใด

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี โดยนับตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองในปีนี้ มีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 14 ราย

แกนนำนักเรียนเลว และนักเรียนไทรวม 3 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในวันเดียวกัน นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน และ น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และนายคณพศ แย้มสงวนศักดิ์ หรือคะน้า แกนนำกลุ่มนักเรียนไท ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนมัธยมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พร้อมด้วยทนายความ และผู้ปกครอง เดินทางไปยัง สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากการขึ้นปราศรัยในชุมนุม วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่แยกราชประสงค์ อย่างไรก็ตามทั้งหมดให้การปฏิเสธ

“การชุมนุมของนักเรียนเลว เป็นไปด้วยสันติมาตลอด และการเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปการศึกษาถือว่าอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญมาตลอด จึงตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ว่า การดำเนินคดีกับเยาวชนขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหรือไม่ แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ระบุรายละเอียดของพฤติการณ์” น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความของนักเรียนทั้งหมด ระบุ

ทั้งนี้ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 กลุ่มนักเรียนเลว รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้นัดกันแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการไม่เห็นด้วยกับกฎของโรงเรียนต่าง ๆ ที่บังคับให้นักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ล่าสุดมีการเปิดเผยแล้วว่า จะมีโรงเรียนอย่างน้อย 23 แห่งร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ที่ผ่านมาประชาชนในนามคณะราษฎรได้จัดการชุมนุมทางการเมือง ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันโดย มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

การชุมนุมของคณะราษฎรหลายครั้ง นำไปสู่การสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำและใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อเหลืองในฐานะผู้ที่เห็นต่างจากคณะราษฎร โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งสองกลุ่มได้จัดชุมนุมบริเวณใกล้รัฐสภา ทำให้เกิดการปะทะกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 ราย ในนั้นถูกยิงด้วยอาวุธปืน 6 ราย กระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม นำมาสู่การออกหมายเรียกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม

ขณะที่การชุมนุมยังมีต่อเนื่อง และยังมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่าย ทำให้มีข่าวลือว่าอาจเกิดการรัฐประหาร เพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยแก่สื่อมวลชนหลังการประชุมสภากลาโหมในวันนี้ว่า กองทัพเข้าใจการเคลื่อนไหวของประชาชน และไม่มีความคิดที่จะทำรัฐประหาร

“(เรื่องรัฐประหาร) ขออย่าขยายความ และทำให้เกิดความขยายความเข้าใจผิดในสังคมเกิดความหวาดระแวงกัน ขอให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการพัฒนาทางการเมือง... ถือเป็นความตื่นตัว ตื่นรู้ทางการเมืองร่วมกันในการมีส่วนร่วมของสังคมในครั้งนี้ ถือเป็นการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าร่วมกันพล.ท.คงชีพ กล่าว

ในการทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราช่วยกันนำพลังที่เกิดขึ้นพัฒนาในเชิงบวก เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ให้ก้าวผ่านอย่างเข้มแข็งและแข็งแรงโดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยในสังคมได้ถูกต้องพล.ท.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง