ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง นปช. ข้อหาก่อการร้ายปี 2553

ยืนโทษคุกตลอดชีวิต สุขเสก พลตื้อ, กลับคำพิพากษาสั่งขัง "เจ๋ง ดอกจิก" 5 ปี 4 เดือน

ในวันจันทร์นี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง นปช. ในคดีก่อการร้ายจากการชุมนุมปี 2553 แต่พิพากษายืนให้จำคุกนายสุขเสก พลตื้อ ตลอดชีวิต ในข้อหาก่อการร้าย และกลับคำตัดสินให้จำคุกนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ "เจ๋ง ดอกจิก" เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน ฐานข่มขืนใจเจ้าหน้าที่

ในวันเดียวกันนี้ ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว ใบปอ-เก็ท นักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อ้างผิดเงื่อนไขประกันตัว

ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ในคดี หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพวก รวม 24 รายฐานจำเลย ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย จากการร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ระหว่างวันที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2553

จำเลยเข้าฟังการอ่านคำพิพากษา ณ ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อย่างพร้อมเพรียง โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ยกเว้นนายสุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 ที่ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

“พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก มีความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือน ส่วน สุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาอุทธรณ์ ระบุ

ส่วนจำเลยที่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา คือ นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เพราะเสียชีวิต ขณะที่ นายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 24 อยู่ระหว่างการหลบหนี หลังฟังคำพิพากษาทนายความได้ยื่นขอประกันตัวนายยศวริศ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

หลังฟังคำพิพากษา นายณัฐวุฒิ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนเองและพวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยตลอด และเคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งหลังจากนี้จะได้พูดคุยกับทนายความ เพื่อวางแผนการดำเนินการด้านคดีต่อไป

“ข้อกล่าวหาก่อการร้ายนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษซึ่งจะก่อการรุนแรงให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเจ้าหน้าที่ แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่ปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว คำตัดสินไม่ได้เป็นชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ได้มีความรู้สึกว่านี่คือการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่าย แต่มันคือการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยมีศาลเป็นผู้พิพากษา” นายณัฐวุฒิ กล่าว

230109-th-sentence-terrorism-protest5.jpg
99781126 A hardline Thai "Red Shirt" anti-government protester sets fire to a commercial building after the leaders of the movement announced the surrender in downtown Bangkok on May 19, 2010. Thai protest leaders surrendered Wednesday and told thousands of "Red Shirt" supporters to end their weeks-long rally after an army assault on their fortified encampment left at least five people dead. AFP PHOTO / BAY ISMOYO (Photo by BAY ISMOYO / AFP) (BAY ISMOYO/AFP)

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลกลุ่มเสื้อแดง หัวรุนแรงจุดไฟเผาอาคารพาณิชย์ หลังแกนนำของตนประกาศยอมแพ้ ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (เอเอฟพี)

ในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. จัดชุมนุมทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา โดยอ้างว่านายอภิสิทธิ์ได้ตำแหน่งโดยไม่ชอบ ต่อมารัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม โดยใช้กระสุนจริง เพราะอ้างว่า มีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งถูกเรียกว่า “ชายชุดดำ” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ผลของการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย และบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 2 พันราย การชุมนุมยังนำไปสู่การเผาห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ และศาลากลางหลายจังหวัด ตามมาด้วยการดำเนินคดีกับแกนนำ และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจำนวนมาก

ต่อคำพิพากษาที่ออกมา นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยสังคมศาสตร์ สถาบันแมกซ์ แพลงค์ เยอรมัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คำตัดสินดังกล่าวแทบไม่ส่งผลกระทบกับพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ซึ่งมีแกนนำกลุ่มนปช.ให้การสนับสนุนในช่วงปี 2553

“จริงอยู่ที่คดีที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีถูกพิจารณาในช่วงนี้ สร้างความน่าสงสัย และเป็นไปได้ว่าอาจให้คุณให้โทษในทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การดิสเครดิตพรรคอย่างเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่นปช.ให้การสนับสนุนในช่วงเวลานั้น"

"แต่อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมาก บวกกับระยะเวลาที่นานพอสมควรตั้งแต่เกิดเรื่อง ประสบการณ์ตรงกับเรื่องนี้กับกลุ่มคนดังกล่าวก็แทบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ผลกระทบกับพรรคจึงไม่น่าเป็นห่วง หนำซ้ำการตัดสินนี้อาจทำให้วาทกรรมต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเช่น เผาบ้านเผาเมือง ถูกสังคายนาเสียที” นายพิทธิกรณ์ ระบุ

ศาลถอนประกัน เก็ท - ใบปอ ผู้ต้องหา คดี ม . 112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนประกันตัว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จำเลยในคดีดำ อ.1447/2565 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง และ น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง จำเลยในคดีดำ อ.1788/2565 และ คดีดำ อ .1691/2565 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง หลังจากทั้งคู่ไปร่วมชุมนุมระหว่างการประชุม APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565

“ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานจากการไต่สวนแล้วเห็นว่า ภายหลังการได้รับปล่อยชั่วคราวจากศาลแล้ว ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมกับพวก และเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพากลุ่มผู้ชุมนุมไปประท้วงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานผู้ร้องได้ ถือว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาล มีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย ออกหมายขัง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

หลังมีคำสั่ง นายโสภณ ถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ขณะที่ น.ส. ณัฐนิช ถูกพาตัวไปควบคุมที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง

ก่อนหน้านี้ นายโสภณเคยถูกจับ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เพราะถูกกล่าวหาว่าปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ต่อมาได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ขณะที่ น.ส. ณัฐนิช ได้รับการประกันตัวเมื่อ 4 สิงหาคม 2565 หลังจากถูกควบคุมตัวเพราะตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยระหว่างนั้นได้ประท้วงด้วยการอดอาหารร่วม 2 เดือน กระทั่งทั้งคู่ถูกถอนประกันตัวในวันจันทร์นี้